มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน หรือ Net Asset Value (NAV) เป็นตัวที่จะสะท้อนถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดที่กองทุนลงทุนในแต่ละขณะ การคำนวณ NAV ใน ปัจจุบันใช้หลัก Mark to Market (m to m) ซึ่งจะใช้ราคาตลาดของตราสารในการคำนวณ เช่น กองทุนลงทุนในหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะใช้ราคาปิดของหุ้นตัวนั้นมาใช้ในการคำนวณมูลค่าเงินกองทุน ดังนั้น NAV จึงมีโอกาสที่จะขึ้นหรือลงตามแต่สภาวการณ์ นอกจากนี้ ปัจจุบันได้มีการนำระบบ unitization มาใช้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะมีการบันทึกมูลค่าเงินกองทุนเป็นมูลค่าต่อหน่วย วิธีนี้จะมีประโยชน์ในแง่ที่จะทำให้สมาชิกสามารถติดตามผลการหารเงินกองทุนของบริษัทจัดการได้ได้ง่ายขึ้น
Mark to Market คือ อะไร
M to M เป็นวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนถืออยู่ไม่ว่าจะเป็น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ฯลฯ ให้เป็นมูลค่าตามตลาดหรือราคาตลาดปัจจุบัน เช่น กองทุนต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ A ที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ กองทุนจึงซื้อหุ้น A ในราคาซื้อขายในตลาด ณ ช่วงเวลานั้น เมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือน กองทุนต้องการขายหุ้น A ก็ต้องขายในราคาซื้อขายในตลาด ณ ช่วงเวลานั้นเช่นเดียวกัน ซึ่งราคาอาจจะเพิ่มขึ้น ลดลง หรือเท่ากับราคาซื้อ (ราคาทุน) ก็ได้
ราคาตลาดของหลักทรัพย์ต่างๆ ที่จะใช้ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน ได้แก่
- หุ้น..ใช้ราคาปิดในตลาดหลักทรัพย์
- พันธบัตร/หุ้นกู้..ใช้อัตราผลตอบแทนจากการซื้อขายครั้งล่าสุดในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
- หน่วยลงทุน..ใช้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วย (NAV) ที่คำนวณได้ ณ สิ้นวัน
- เงินฝาก/ตั๋วสัญญาใช้เงิน..ใช้มูลค่าเงินต้นบวกด้วยดอกเบี้ยค้างรับ
การกำหนดมูลค่ายุติธรรมของหลักทรัพย์แต่ละประเภทเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ที่ สจก.กช. 3/2545 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนเพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เหตุที่ต้อง Mark to Market
1. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายทรัพย์สินและผลประโยชน์ของกองทุนให้แก่สมาชิกกองทุนทุกคน
ตัวอย่าง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยของกองทุน อยู่ที่ 10.00 บาท
สถานการณ์ที่ 1 : ราคาพันธบัตรที่กองทุนถืออยู่มีราคาตลาดสูงกว่าราคาทุน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินต่อหน่วยของกองทุนสูงขึ้นเป็น 11.00 บาท แต่กองทุนยังคงใช้ราคา 10.00 บาท ในการคำนวณผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก...ผลก็คือ

สถานการณ์ที่ 2 : ราคาพันธบัตรที่กองทุนถืออยู่มีราคาตลาดต่ำกว่าราคาทุน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินต่อหน่วยของกองทุนลดลงเป็น 9.00 บาท แต่กองทุนยังคงใช้ราคา 10.00 บาท ในการคำนวณผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก...ผลก็คือ..

ดังนั้น หากมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนด้วยราคาตลาด (M to M) จะไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสมาชิกทุกประเภท
2. เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกองทุนและบริษัทจัดการ
สมาชิกจะทราบได้ทันทีว่ากองทุนนั้นมีการบริหารจัดการได้ดีหรือไม่เพียงใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจของสมาชิกในการเลือกนโยบายการลงทุนหรือเลือกบริษัทจัดการ
นอกจากนี้ การใช้ M to M ยังเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่มีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย อังกฤษ ฯลฯ จะใช้วิธีการนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับสมาชิกทุกคนในกองทุน และการใช้ M to M ยังเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 42 เรื่องการบัญชีสำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจเฉพาะด้านการลงทุนที่กำหนดให้กิจการในลักษณะนี้ต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนด้วยมูลค่าตามราคาตลาด ณ ปัจจุบันด้วย
Unitization
เมื่อปี 2544 ได้มีการเปลี่ยนการบันทึกมูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากในรูปจำนวนเงิน เป็นการบันทึกในรูปจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อหน่วย (unitization) โดยกองทุนที่ยังไม่เคยมีการกำหนดมูลค่าต่อหน่วย ก็จะเริ่มต้นมูลค่าที่ 10 บาท ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะต้องกำหนดให้กองทุนมีวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับใช้ในการคำนวณจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกที่นำส่งเงินเข้ากองทุน และคำนวณจำนวนเงินที่จะจ่ายให้สมาชิกที่ลาออกจากกองทุน และใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุน
การรับรองมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
เมื่อบริษัทจัดการคำนวณ NAV ของกองทุนโดยใช้หลัก mark to market ตามที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนดแล้ว จะต้องให้ผู้รับรองมูลค่า (NAV Verfier) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้ตรวจทานการคำนวณว่าถูกต้องหรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เนื่องจากข้อมูล NAV มีความสำคัญต่อการคำนวณจำนวนหน่วยสำหรับสมาชิกที่นำส่งเงินเข้ากองทุน และการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณผลตอบแทนรวมของกองทุนที่อยู่ภายใต้การจัดการ (composite return) ซึ่งจะมีประโยชน์ในการประเมินผลงานของบริษัทจัดการได้อย่างถูกต้องด้วย
ประกาศที่เกี่ยวข้อง
|