ถามมา...ตอบไว...ThaiPVD
ตอน การควบรวมกิจการของนายจ้างกระทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร |
สวัสดีค่ะท่านกรรมการและท่านสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในช่วงที่ผ่านมามีคำถามเข้ามาว่า นายจ้างมีการควบรวมกิจการกัน ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนจะยังคงมีสมาชิกภาพและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในกองทุนเฉกเช่นเดียวกันกับกองทุนของนายจ้างเดิมหรือไม่ อย่างไร
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนนะคะว่า การควบรวมกิจการ หมายถึง การที่บริษัทตั้งแต่สองแห่งขึ้นไปตกลงรวมกิจการให้เป็นบริษัทเดียวกัน โดยมีรูปแบบที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบ คือ
1. การควบรวมกิจการของบริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไป โดยเหลือเพียงบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงบริษัทเดียว ส่วนบริษัทที่เหลือถูกปิดกิจการไปหลังโอนทรัพย์สินและหนี้สินของตนให้แก่บริษัทที่คงอยู่
2. การควบรวมกิจการของบริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไป โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา สินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทที่ถูกควบรวมกิจการทั้งหมดจะนำมารวมเป็นของบริษัทใหม่ เมื่อเสร็จสิ้นการควบรวมกิจการ บริษัทเดิมทั้งหมดจะถูกปิดกิจการ
เมื่อนายจ้างมีการควบรวมกิจการกัน ก็ต้องมีการรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของทุกนายจ้างเข้าด้วยกันให้เหลือเพียงกองทุนเดียวหรือเกิดกองทุนใหม่แล้วแต่กรณีข้างต้น และมีผลให้กองทุนของนายจ้างที่ถูกควบรวมกิจการต้องเลิกกองทุนพร้อมกับสมาชิกก็ต้องโอนย้ายไปอยู่กองทุนใหม่ด้วยนะคะ ตัวอย่างเช่น
- บริษัท ก ควบรวมกับ บริษัท ข (ก+ข) เป็น บริษัท ก (หรือบริษัท ข) กรณีนี้กองทุนของบริษัท ก (หรือบริษัท ข) จะยังคงอยู่ต่อไป แต่ต้องเลิกกองทุนของบริษัทที่ถูกควบรวมกิจการและโอนย้ายสมาชิกของกองทุนที่เลิกไปยังกองทุนที่คงอยู่
- บริษัท ก ควบรวมกับ บริษัท ข กลายเป็นบริษัท ค กรณีนี้ต้องจัดตั้งกองทุนบริษัท ค ขึ้นใหม่โดยเลิกกองทุนของบริษัท ก และบริษัท ข และโอนย้ายสมาชิกกองทุนเข้ามาในกองทุนใหม่
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่า ไม่ว่าจะมีการควบรวมกิจการด้วยลักษณะใดก็ตาม จะมีผลต่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทที่เกิดจากกการควบรวมกิจการแล้วทั้งสิ้น เนื่องจากข้อบังคับกองทุนจะต้องกำหนดเงื่อนไขให้รองรับสมาชิกที่โอนย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกด้วยไม่ว่าจะเป็นการนับอายุงานหรืออายุสมาชิกต่อเนื่อง ในการนำส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุน หรือการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบของนายจ้าง เป็นต้น
สิ่งที่ท่านกรรมการกองทุนของกองทุนที่มีการควบรวมกิจการต้องพึงระวัง คือ ต้องมีการตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดในข้อบังคับกองทุนกับสมาชิกให้ดีโดยเฉพาะเรื่องที่มีส่วนได้เสียกับสมาชิก มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาได้ ได้แก่ เรื่องการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบในส่วนของนายจ้าง ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ก ควบรวมกับ บริษัท ข เป็นบริษัท ก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัท ก ยังคงอยู่ต่อไปโดยมีสมาชิกกองทุนบริษัท ข มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุน ก ด้วย แต่กองทุนบริษัท ก กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบให้สมาชิกตามอายุงานและไม่จ่ายให้เมื่อลูกจ้างกระทำผิดต่อนายจ้างอย่างร้ายแรง โดยเงินที่ไม่ได้จ่ายให้แก่สมาชิกให้กลับเข้ากองทุนกระจายให้แก่สมาชิกทุกคนในกองทุน ในขณะที่กองทุนของบริษัท ข กำหนดให้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบแก่สมาชิกเต็มร้อยเปอร์เซนต์โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น การที่ข้อกำหนดในกองทุนของทั้งสองบริษัทต่างกันเช่นนี้ กรรมการกองทุนจึงต้องทบทวนข้อบังคับกองทุนที่ได้มีการควบรวมกิจการแล้วให้ดีว่าจะยังคงกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบของกองทุน ก เช่นเดิมหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจทำให้ลูกจ้างของบริษัท ข ไม่พอใจ
ในกรณีดังกล่าวข้างต้น เคยมีคำถามว่า ข้อบังคับกองทุนจะกำหนดแยกเงื่อนไขตามที่กองทุนบริษัท ก และบริษัท ข เคยกำหนดไว้เดิม ได้หรือไม่ คำตอบคือ เมื่อรวมเป็นกองทุนเดียวแล้ว หากมีการกำหนดให้เงินสมทบที่ไม่ได้จ่ายให้สมาชิกกลับเข้ากองทุน นั่นหมายความว่า ต้องกระจายให้แก่สมาชิกทุกคนในกองทุนจะแบ่งให้เฉพาะสมาชิกบางกลุ่มหรือบางคนไม่ได้ค่ะ
อย่างไรก็ดี หากนายจ้างของบริษัทท่านจะมีการควบหรือรวมกิจการและท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทท่าน สามารถสอบถามไปยังคณะกรรมการกองทุนของบริษัทท่าน
ท่านผู้อ่านสามารถค้นหาคำถามที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสอบถามเข้ามาบ่อยได้ที่www.ThaiPVD.com ภายใต้หัวข้อ “คำถามที่ถูกถามบ่อย” นอกจากนั้นหากท่านมีคำถามเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ท่านสามารถสอบถาม ถามมา...ตอบไว...ThaiPVD ได้ที่ thaipvd@sec.or.th สวัสดีค่ะ
|