สรรหามาเล่า
ตอน ระบบ pension ของประเทศญี่ปุ่น เป็นอย่างไร (ตอนที่ 2) |
สรรหามาเล่าฉบับที่แล้วได้พาทุกท่านไปรู้จักระบบ pension ของประเทศญี่ปุ่นกันแล้ว คราวนี้จะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับพัฒนาการระบบ pension ของประเทศญี่ปุ่นกันค่ะ
ผลจากการที่ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลก จึงคงจะไม่เกินไปนักถ้าจะกล่าวว่าญี่ปุ่นมีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบ pension ของประเทศมาอย่างโชกโชน ดังจะเห็นได้จากการปฏิรูประบบ pension ที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราวในปี 1985 1994 2000 และ 2004 ซึ่งเป็นการพัฒนาจนมาเป็นระบบ pension รูปแบบปัจจุบันตามที่สรรหามาเล่าได้นำมาเล่าสู่กันฟังในตอนที่ 1 ที่ผ่านมา
หนึ่งในประเด็นที่มีการปฏิรูประบบ pension มากที่สุดก็คือการขยายระยะเวลาการจ่ายเงินจากกองทุนยืดนานออกไปแต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มระยะเวลาการรับเงินเม็ดเงินเข้ากองทุนให้นานขึ้นด้วย ซึ่งเป็นมาตรการในการเพิ่มความมั่นคงของฐานะทางการเงินของระบบ pension ซึ่งมีหลายประเทศทั่งโลกใช้วิธีการดังกล่าว โดยประเทศส่วนใหญ่กำหนดอายุการรับเงินไว้ที่อายุ 65 ปี สำหรับประเทศญี่ปุ่นขยายอายุดังกล่าวไว้แบบค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ในปี 2006 ให้ขยายเป็น 62 ปี ปี 2007 เพิ่มเป็น 63 ปี ปี 2010 เพิ่มเป็น 64 ปี และปี 2013 ให้ขยายเป็น 65 ปีในที่สุด
การดำเนินการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดคำถามว่าหากลูกจ้างเกษียณอายุจากที่ทำงานเมื่อมีอายุครบ 60 ปีโดยไม่มีเงินออมจากแหล่งอื่น ลูกจ้างจะนำเงินจากแหล่งใดมาใช้จ่ายในระหว่าง 5 ปีที่รอให้มีสิทธิได้รับเงินจาก pension plan
ประเทศญี่ปุ่นมีทางออกสำหรับปัญหานี้ค่ะ เพราะญี่ปุ่นมีกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า The Act for Promoting Employment of Middle-Age and Older Person ซึ่งออกใช้บังคับนับแต่ปี 1971 แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกฎหมายว่าด้วยการจ้างงานผู้สูงอายุ (The Act Concerning Stabilization of Older Person Law) กฎหมายดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อปี 2004 พบว่ากฎหมายมิได้บังคับให้นายจ้างต้องขยายอายุเกษียณออกไปให้สอดคล้องกับการขยายอายุการเริ่มมีสิทธิได้รับเงินจาก pension plan แต่อย่างใด แต่ได้กำหนดไว้ว่านายจ้างจะกำหนดอายุเกษียณของลูกจ้างให้ต่ำกว่า 60 ปีไม่ได้ และนายจ้างมีหน้าที่ต้องให้หลักประกันแก่ลูกจ้างที่สูงอายุให้มีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานต่อจนกว่าจะอายุ 65 ปีหากลูกจ้างรายนั้นๆมีความประสงค์จะทำงานต่อไป โดยนายจ้างต้องออกมาตรการเพื่อการพัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพให้แก่ลูกจ้าง รวมทั้งปรับปรุงอุปกรณ์การทำงานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุด้วย นอกจากนี้ ภาครัฐยังออกมาตรการสนับสนุนโดยการจัดให้มีเครือข่ายการจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถบรรจุผู้สูงอายุเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆได้เมื่อมีความต้องการ รวมทั้งการช่วยฝึกอาชีพให้เพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง เป็นต้น
มาตรการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหาไว้ล่วงหน้าและมีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ผลจากการสำรวจสภาพการจ้างงานผู้สูงอายุเมื่อปี 2006 โดย The Japan Institute for Labor Policy and Training (JILPT 2006 Survey) พบว่า นายจ้างสามารถจัดให้มีการจ้างงานลูกจ้างสูงอายุที่ประสงค์จะทำงานต่อได้สูงถึง 70-90% ของจำนวนลูกจ้างที่ต้องการทำงานต่อ และจากการสำรวจของ The Ministry of Health, Labour and Welfare’s survey เมื่อปี 2007 พบว่าอัตราการจ้างงานผู้สูงอายุระหว่าง 60-64 ปีเพิ่มขึ้น 26.9% และอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 46.5 % เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะมีกฎหมายบังคับนายจ้างให้มีหน้าที่จัดหางานให้ผู้สูงอายุเมื่อปี 2004 อย่างไรก็ดี การจ้างงานผู้สูงอายุมีผลให้ต้นทุนของนายจ้างสูงขึ้น เนื่องจาก productivity ของผู้สูงอายุจะลงลง รัฐบาลจึงยอมให้นายจ้างเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างงานโดยอาจลดสวัสดิการหรือค่าตอบแทนลง เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้าง
แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามหามาตรการต่าง ๆ มารับมือกับปัญหาผู้สูงอายุ แต่ปัญหานี้ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและทำให้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยพอใจเนื่องจากเงินที่ได้รับจากระบบการออมดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพโดยเฉพาะผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวขึ้นเรื่อย ๆ ได้ข่าวว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นได้เสนอกฎหมายที่ปรับปรุงระบบการออมใหม่ หากมีข้อมูล จะมาเล่าให้ฟังนะคะ จากบทความที่เล่าให้ฟัง 2 ตอนนี้ จะเห็นว่า ระบบ pension ของญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ท่านผู้อ่านทั้งนายจ้างและ กรรมการกองทุนคงได้แนวคิดเผื่อนำไปเตรียมความพร้อมในการออกมาตรการต่าง ๆ แก่สมาชิกในอนาคตค่ะ
|