ถามมา...ตอบไว...ThaiPVD
ตอน นำเงินประเดิมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำอย่างไร |
สวัสดีค่ะ ผ่านไปครึ่งปีแล้วนะคะสำหรับการอนุญาตให้นำเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างหรือเงินประเดิมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เหลือเวลาเพียงครึ่งปีแรกของปี 2554 หรือภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2554 นี้เท่านั้น หากนายจ้างรายใดที่ยังไม่ได้นำเงินประเดิมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่ารอช้า! โอกาสสุดท้ายแล้วที่จะนำเงินประเดิมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เพราะกระทรวงการคลังอนุญาตให้นำเงินประเดิมเข้ากองทุน ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็มีนายจ้างทยอยขอนำเงินประเดิมเข้ากองทุนแต่ก็มีนายจ้างที่ยังไม่แน่ใจ มีคำถามหลายคำถามว่าจะนำเงินอะไรเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ อะไรนำเข้าไม่ได้ และจะนำเข้าอย่างไร สัปดาห์นี้ ถามมา...ตอบไว...ThaiPVD ขอนำมาเแชร์ให้ทราบกันค่ะ
• นายจ้างที่ยังไม่ได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ประสงค์จะนำเงินประเดิมเข้ากองทุนต้องขอจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนหรือไม่
คำตอบคือ ไม่จำเป็นค่ะ ในทางปฏิบัตินายจ้างสามารถขอจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมกับขอนำเงินประเดิมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เพื่อนายทะเบียนจะได้พิจารณาไปพร้อมกันจะได้ประหยัดเวลาทั้งนายจ้างและนายทะเบียนด้วยค่ะ
• หากเคยนำเงินประเดิมเข้ากองทุนแล้ว จะขอนำเงินประเดิมเข้ากองทุนอีกได้หรือไม่
คำตอบคือ ต้องดูว่าเงินประเดิมที่จะขอนำเข้าอีกนั้นเป็นเงินตามโครงการเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2530) หรือไม่ ถ้าใช่ นายจ้างก็สามารถขอนำเงินที่เหลือเข้ากองทุนได้ แต่ต้องชี้แจงให้นายทะเบียนทราบว่า เงินที่ยังไม่ได้นำเข้ากองทุนคือเงินอะไร เช่น อาจเป็นเงินประเดิมในส่วนของลูกจ้างที่ยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือสมัครเป็นสมาชิกกองทุนหลังปี 2548 ที่มีการนำเงินประเดิมเข้ากองทุนแล้วอาจเป็นเงินสำรองส่วนต่างระหว่างผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินบำเหน็จกับผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินที่บริหารในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กรณีนี้นายจ้างรับประกันผลประโยชน์) เป็นต้น
• นายจ้างที่แจ้งนำเงินประเดิมเข้ากองทุนทั้งหมดครั้งเดียวภายในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ต้องนำเงินเข้าครั้งเดียวหรือไม่
คำตอบคือ ไม่จำเป็นค่ะ นายจ้างสามารถนำเงินเข้ากองทุนครั้งเดียวก็ได้หรือทยอยนำเงินเข้ากองทุนก็ได้ เช่น นำเข้าทุกเดือนหรือ 3 เดือน/ครั้งภายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้ แต่หากนายจ้างขอนำเงินเข้ากองทุนตั้งแต่ 2 รอบระยะเวลาบัญชีขึ้นไป แต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่ทยอยนำเงินประเดิมเข้ากองทุน จำนวนเงินที่ต้องนำเข้าในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีอย่างน้อยต้องเท่ากับจำนวนเงินทั้งหมดหารด้วยจำนวนรอบระยะเวลาบัญชี เช่น หากขอนำเงินประเดิมเข้ากองทุน 10 ล้านบาท ภายใน 5 รอบระยะเวลาบัญชี นายจ้างต้องนำเงินประเดิมเข้ากองทุนอย่างน้อยรอบระยะเวลาบัญชีละ 2 ล้านบาท ยกเว้นรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายอาจน้อยกว่าได้ หมายความว่า นายจ้างอาจเลือกวิธีนำเงินเข้ากองทุนได้ดังนี้ค่ะ
ก. นายจ้างอาจนำเงินเข้ากองทุน 5 รอบระยะเวลาบัญชี รอบละ 2 ล้านบาทเท่า ๆ กัน
ข. นายจ้างอาจนำเงินเข้ากองทุนไม่เท่ากัน ปีแรกอาจนำเงินเข้า 2.5 ล้านบาท ปีที่ 2 นำเงินเข้า 3 ล้านบาท ปีที่ 3 นำเงินเข้า 2 ล้านบาท ปีที่ 4 นำเงินเข้า 2 ล้านบาท และปีสุดท้ายนำเงินเข้า 5 แสนบาท ซึ่งปีสุดท้ายสามารถนำเงินเข้ากองทุนน้อยกว่า 2 ล้านบาทได้ (เฉพาะปีสุดท้ายเท่านั้น)
ค. นายจ้างอาจนำเงินเข้ากองทุนน้อยกว่า 5 รอบระยะเวลาบัญชีตามที่ได้รับอนุมัติได้ หากนำเงินเข้ากองทุนครบจำนวนแล้ว เช่น ปีแรกนำเงินเข้า 3 ล้านบาท ปีที่สองนำเงินเข้า 3 ล้านบาท ปีที่สามนำเงินเข้า 2 ล้านบาท ปีที่สี่นำเงินเข้า 2 ล้านบาท
ง. จากข้อ ก. ข้อ ข. และข้อ ค. ในแต่ละรอบระเวลาบัญชี นายจ้างก็ยังสามารถทยอยนำเงินเข้ากองทุนได้ เช่น กรณีนายจ้างเลือกนำเงินเข้ากองทุน 5 รอบระยะเวลาบัญชี นายจ้างจะทยอยนำเงินเข้ากองทุนรอบระยะเวลาบัญชีแรกทุกเดือน รอบระยะเวลาบัญชีที่สอง นำเงินเข้าไตรมาสละครั้ง รอบระยะเวลาบัญชีที่สาม นำเงินเข้า 6 เดือนครั้งก็ได้ เป็นต้น
เห็นไหมคะว่าการนำเงินประเดิมเข้ากองทุน เป็นเรื่องที่ง่ายและยืดหยุ่นมาก นายจ้างสามารถขอนำเงินประเดิมเข้ากองทุนได้โดยผ่านบริษัทจัดการที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากนายจ้างมีข้อสงสัยหรือมีคำถามเกี่ยวกับการนำเงินประเดิมเข้ากองทุนเพิ่มเติม สามารถค้นหาคำตอบได้ที่ www.thaipvd.com หัวข้อ What’s new เรื่อง เงินประเดิม ทุกคำถามมีคำตอบที่นี่ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
|