สรรหามาเล่า
ตอน เพราะเหตุใด ปี 2553 จึงพากันขอยกเลิกกองทุนจำนวนมาก |
พบกันอีกครั้งนะคะ คราวนี้สรรหามาเล่าบังเอิญไปพบข้อมูลว่า ในรอบปีที่ผ่านมามีการยกเลิกกองทุนเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ อ่านแล้วอย่าเพิ่งตกใจว่านายจ้างพากันยกเลิกกองทุนนะคะ ความจริงคือมีนายจ้างลูกจ้างจำนวนหนึ่งพากันโยกย้ายกองทุนจากกองทุนเดิมที่มีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียวไปอยู่กองทุนใหม่ที่มีหลายนโยบายค่ะ เรามาดูรายละเอียดกัน
โดยทั่วไปการเลิกกองทุนมักจะมีสาเหตุมาจากนายจ้างเลิกกิจการ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิก หรือนายจ้างประสบปัญหาสภาพคล่องและจำเป็นต้องยกเลิกกองทุน เป็นต้น จะเห็นได้จาก ปี 2552 มีการจดทะเบียนยกเลิกกองทุน 19 กองทุน แต่ในปี 2553 กลับพบว่ามีการยกเลิกกองทุนเพิ่มมากขึ้นเท่าตัวถึง 38 กองทุน โดย 33 กองทุนเกิดจากการเลิกกองทุนนายจ้างรายเดียว (single fund) เพื่อไปเข้ากองทุนหลายนายจ้างที่มีหลายนโยบายการลงทุน(master pooled fund ) รวมทั้งกองทุนที่มีหลายนายจ้าง (pooled fund) ที่มีนโยบายการลงทุนเดียวได้เลิกกองทุนเพื่อโอนย้ายนายจ้างไปยังกองทุนหลายนายจ้างที่ได้จัดตั้งในลักษณะ master pooled fund ค่ะ
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันทั้งบริษัทจัดการและนายจ้างจำนวนมากได้ให้ความสำคัญกับการจัดให้สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้มากกว่าหนึ่งนโยบาย หรือที่เรียกว่าการจัดให้มี employee’s choice นั่นเอง สำหรับนายจ้างรายใหญ่ที่มีลูกจ้างและทรัพย์สินของกองทุนจำนวนมากอาจเปลี่ยนรูปแบบกองทุนจากมีนโยบายเดียวเป็นกองทุนที่มีหลายนโยบายแต่ก็ยังคงความเป็นนายจ้างรายเดียวของกองทุนอยู่ (master single fund) เพราะอยากมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการลงทุนตามที่นายจ้างต้องการ แต่นายจ้างบางรายอาจยกเลิกกองทุนไปเลยเพื่อไปร่วมใน master pooled fund เพราะหากจัดให้มีหลายนโยบายการลงทุนเอง ขนาดของกองทุนอาจไม่ใหญ่พอที่จะกำหนดนโยบายการลงทุนได้หลากหลายได้และอาจต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่กองทุนนายจ้างรายเดียวยกเลิกกองทุนเพื่อโอนย้ายไปเข้าร่วมใน master pooled fund นอกจากจะทำให้สมาชิกได้มีโอกาสเลือกนโยบายการลงทุนที่หลากหลายแล้ว ยังอาจประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากองทุนนายจ้างรายเดียวมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ค่ะ ส่วนบริษัทจัดการที่มีกองทุน pooled fund ภายใต้การจัดการหลายกอง ก็อาจยุบกองทุนเพื่อไปรวมเป็น master pooled fund เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยนายจ้างที่อยู่ pooled fund เดิม ก็มีทางเลือก 2 ทาง คือ อาจโอนย้ายไปอยู่ master pooled fund ใหม่ภายใต้บริษัทจัดการเดิม หรืออาจขอถอนตัวไปอยู่ master pooled fund ที่อยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการอื่นหากเห็นว่ามีนโยบายการลงทุนตรงตามที่ต้องการ
วิธียกเลิกกองทุนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรค่ะ สำหรับกองทุน single fund สามารถขอยกเลิกได้โดยการที่กรรมการกองทุนเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อขอมติให้เลิกกองทุนและแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีกองทุน และให้กรรมการกองทุนแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 7 วันนับแต่วันที่เลิกกองทุน จากนั้นให้กรรมการจัดให้มีการชำระบัญชีภายใน 30 วันนับแต่วันที่กองทุนเลิก แต่สำหรับนายจ้างที่เดิมเคยอยู่ในกองทุน pooled fund จะเป็นเพียงการถอนตัวของนายจ้างเฉพาะรายใดรายหนึ่งออกไปโดยไม่มีการยกเลิกกองทุนแต่อย่างใด ยกเว้นนายจ้างทุกรายพร้อมใจกันถอนตัวออกไปจาก pooled fund จนหมด ก็จะต้องดำเนินการยกเลิก pooled fund นั้นด้วย ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการแบบเดียวกันกับการเลิกกองทุน single fund ค่ะ
การชำระบัญชีในกรณีปกติจะมีการจ่ายเงินทั้งหมดคืนแก่สมาชิกให้ครบถ้วนเรียบร้อย แต่ในกรณีเป็นการโอนย้ายไปเข้ากองทุนใหม่จะไม่มีการจ่ายเงินคืนแก่สมาชิก จะเป็นเพียงการโอนทรัพย์สินทั้งหมดจากกองทุนเดิมไปเข้ากองทุนใหม่ค่ะ ซึ่งทรัพย์สินจะถูกนำเข้ากองทุนใหม่โดยมีการแบ่งสัดส่วนของเงินเพื่อนำไปลงทุนตามที่สมาชิกเลือก และสมาชิกเองควรจะให้ความใส่ใจในเลือกและแจ้งการตัดสินใจเลือกนโยบายการลงทุนของตนเองให้ชัดเจนในขั้นตอนนี้
ใกล้จะถึงฤดูการจัดประชุมใหญ่สมาชิกกองทุนประจำปีแล้ว นายจ้างที่ยังไม่ได้จัดให้สมาชิกเลือกนโยบายการลงทุนน่าจะลองพิจารณาดูนะคะว่าจะใช้วิธีการใด การดำเนินการทั้งหมดข้างต้นไม่ยุ่งยากค่ะเพราะบริษัทจัดการคอยช่วยเหลือดำเนินการให้ทุกขั้นตอน หากกรรมการกองทุนมีข้อสงสัยก็สามารถขอคำปรึกษาบริษัทจัดการได้ ซึ่งบริษัทจัดการทุกแห่งมีความพร้อมจะตอบทุกคำถามและให้ความช่วยเหลือดำเนินการแก่นายจ้างและกรรมการกองทุนในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องค่ะ
แล้วพบกันใหม่ อย่าลืมติดตามอ่านสาระดี ๆ จากสรรหามาเล่าฉบับหน้านะคะ สวัสดีค่ะ
|