14.
|
บริษัทจัดการ
|
|
|
14.1 |
สัญญาจ้างผู้จัดการกองทุนแบบที่เป็นมาตรฐานมีหรือไม่ หากมีสามารถค้นหาได้ที่ใด
|
ตอบ |
สัญญาจ้างบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้มีแบบฟอร์มมาตรฐาน แต่มีหลักเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับเนื้อหาของสัญญาตามประกาศสำนักงานที่ สน. 22/2552 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี บริษัทจัดการมีการจัดทำสัญญามาตรฐานของแต่ละบริษัทไว้
|
14.2 |
บริษัทจัดการที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะต้องเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย, มีสัญชาติไทย หรือไม่ กรณีที่บริษัทจัดการที่มีสัญชาติต่างประเทศแต่มีสาขาที่ประเทศไทย สาขาของบริษัทดังกล่าวสามารถบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทยได้หรือไม่
|
ตอบ |
บริษัทที่จะบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในเรื่องสัญชาติบริษัท หากจดทะเบียนในประเทศไทย ย่อมมีสัญชาติไทย
หากเป็นบริษัทต่างชาติเข้ามาบริหารกอง PVD ในไทย โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. จะถือว่าฝ่าฝืน มาตรา 133 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และหากเป็นสาขาต่างประเทศต้องได้รับอนุญาตเช่นเดียวกับข้อ 1 ข้างต้น
|
14.3 |
ในสัญญาสามารถกำหนดค่าปรับกรณีเลิกสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการก่อนครบกำหนดได้หรือไม่
|
ตอบ |
การกำหนดค่าปรับในสัญญาเป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะตกลงกัน สำนักงานไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้ ดังนั้น ในการทำสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการ คณะกรรมการกองทุนควรศึกษาสัญญาให้รอบคอบ
|
14.4 |
กองทุนจะเปลี่ยนบริษัทจัดการใหม่ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทจัดการเดิม จะมีบทลงโทษอย่างไร
|
ตอบ |
(1) บริษัทจัดการมีหน้าที่ต้องส่งมอบหลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้า รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องของลูกค้าให้แก่บริษัทจัดการหรือผู้รับฝากทรัพย์สินรายใหม่ตามที่ประกาศกำหนดดังนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
- กรณีสัญญาสิ้นสุดเพราะครบอายุสัญญา : ภายในวันทำการถัดจากวันครบกำหนดอายุสัญญา
- กรณีสัญญาสิ้นสุดเพราะลูกค้าบอกเลิกสัญญา : ส่งมอบโดยพลัน
- กรณีสัญญาสิ้นสุดเพราะบริษัทจัดการบอกเลิกสัญญา : ภายในวันทำการถัดจากวันที่สัญญาสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุนควรกำหนดขอบเขตหน้าที่ของบริษัทจัดการหากมีการเปลี่ยนบริษัทจัดการไว้ในสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการโดยระบุถึงวิธีการในการส่งมอบทรัพย์สินและเอกสาร รวมทั้งระยะเวลาในการส่งมอบ
(2) หากบริษัทจัดการรายเดิมไม่ส่งมอบหลักทรัพย์และทรัพย์สินภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าบริษัทจัดการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรา 133 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท และหากการไม่ส่งมอบดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน คณะกรรมการกองทุนสามารถฟ้องร้องให้บริษัทจัดการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
|
14.5 |
จะทำสัญญาแต่งตั้งบริษัทจัดการรายใหม่โดยกำหนดเวลา 1 ปี และกำหนดให้ต่ออายุสัญญาอัตโนมัติ (Rollover) ได้หรือไม่
|
ตอบ |
ทำไม่ได้ เนื่องจากสำนักงานได้กำหนดเกณฑ์ให้บริษัทจัดการต้องจัดทำสัญญาการจัดการลงทุนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนมีระยะเวลาพอสมควรในการจัดการกองทุน และเพื่อให้คณะกรรมการกองทุนได้พิจารณาผลการจัดการกองทุนของบริษัทจัดการว่าได้มาตรฐานตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับ benchmark อย่างไรก็ดี สัญญาดังกล่าวสามารถกำหนดให้มีอายุ 2 ปี และต่ออายุสัญญาอัตโนมัติได้ หรือต่อสัญญาปีต่อปีก็ได้
|
14.6 |
ใครเป็นผู้ตัดสินใจในการเปลี่ยนบริษัทจัดการ
|
ตอบ |
คณะกรรมการกองทุนซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานกองทุนจะเป็นผู้พิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบริษัทจัดการ ทั้งนี้ควรจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกกองทุนด้วย โดยอาจเสนอเป็นมติที่ประชุมสามัญประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบในการเปลี่ยนบริษัทจัดการ
|
14.7 |
กองทุนสามารถจ้างนายทะเบียนสมาชิกแยกต่างหากจากบริษัทจัดการโดยการทำสัญญาโดยตรงกับบริษัทดังกล่าวได้หรือไม่
|
ตอบ |
กองทุนสามารถจ้างนายทะเบียนสมาชิกแยกต่างหากจากบริษัทจัดการได้ แต่เนื่องจากบริษัทจัดการต้องรับผิดชอบและควบคุมดูแลผู้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นบริษัทจัดการส่วนใหญ่จึงต้องการใช้นายทะเบียนของตัวเองมากกว่าให้กองทุนไปทำสัญญาจ้างเอง
|
14.8
|
ถ้าต้องการเปลี่ยนบริษัทกองทุนจะต้องทำอย่างไร และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
|
ตอบ |
การเปลี่ยนบริษัทจัดการนั้นสามารถทำได้โดยกองทุนหรือผู้จัดการกองทุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 20(3) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งหากเป็นการบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด อาจจะต้องมีค่าปรับหรือค่าชดเชยการเลิกสัญญาก่อนกำหนดให้แก่คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกบอกเลิกด้วยหรือไม่นั้น ให้ดูจากข้อตกลงในหนังสือสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนที่ทำไว้ร่วมกัน นอกจากนี้ คณะกรรมการกองทุนจะต้องแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้จัดการกองทุนเดิมพ้นตำแหน่งตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันด้วย
|
14.9
|
ค่าจัดการกองทุนสามารถเก็บในอัตราที่ไม่เท่ากันระหว่างแต่ละนโยบายใน Master Fund ได้หรือไม่
|
ตอบ |
ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน
|
|
ข้อควรทราบ : คำตอบที่แสดงนี้เป็นการตอบตามกฎเกณฑ์ที่มีผลบังคับใช้ในขณะที่มีการตอบคำถามในกรณีที่ท่านมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ thaipvd@sec.or.th |