SHARE

เป็นผู้ให้...ด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


9 กุมภาพันธ์ 2567
นายสมเกียรติ อนันตภากรณ์
ฝ่ายนโยบายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นช่วงเวลาที่หลายคนชื่นชอบเป็นพิเศษ เนื่องจากมีเทศกาลสำหรับการเฉลิมฉลองถึง 2 เทศกาลด้วยกัน คือ ตรุษจีน และวาเลนไทน์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเทศกาลแห่งการ “ให้” ไม่ว่าจะเป็นการให้คำอวยพรพร้อมกับให้ “อั่งเปา” แก่ญาติผู้ใหญ่และลูกหลาน และการมอบความรักความปรารถนาดีพร้อมกับดอกกุหลาบหรือสิ่งแทนใจอื่น ๆ ให้แก่คนรัก แต่มีคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่เราอาจจะลืมมอบความปรารถนาดีให้ ผมจึงขอใช้โอกาสในเดือนพิเศษเช่นนี้ชวนทุกท่านมอบสิ่งดี ๆ ให้แก่คน ๆ นั้น ซึ่งก็คือตัวเรานั่นเอง ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกหรือเพิ่มเงินสะสมเข้า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หรือ PVD 

การเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เหมือนกับการให้อั่งเปาแก่ตัวเองเป็นรายเดือนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเก็บออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ และยิ่งเราส่งเงินเข้ากองทุนมากขึ้นก็เหมือนกับการใส่ซองอั่งเปาให้ตัวเองเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเหมือนกับการได้รับอั่งเปาจากนายจ้างอีกต่อด้วย เนื่องจากนายจ้างจะสมทบเงินอีกส่วนหนึ่งเข้ากองทุนให้แก่ลูกจ้างรายที่เป็นสมาชิก เรียกได้ว่ายังไม่ทันทำอะไร ก็มีเงินงอกเงยมาเพิ่มให้แล้ว ซึ่งสมาชิกจะมีสิทธิได้รับเงินตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน

สร้างโอกาสเพิ่มมูลค่าเงินออม
หากเปรียบเทียบเงินอั่งเปาและเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เงินที่สมาชิกและนายจ้างส่งเข้ากองทุนจะได้รับการบริหารจัดการโดยบริษัทจัดการที่เป็นมืออาชีพ ซึ่งอาจจะนำไปลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือสินทรัพย์อื่น ๆ ตามนโยบายการลงทุนที่มีและสมาชิกได้แสดงความประสงค์ไว้ เงินก้อนนี้มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นในระยะยาว ขณะที่เงินในซองสีแดงที่อาจถูกนำไปใช้จ่ายหรือนอนอยู่นิ่ง ๆ จะมีมูลค่าลดลงไปเรื่อย ๆ ตามราคาของสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง โดยเงินกองทุนที่นำไปลงทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการประกอบกัน เช่น ประเภทของหลักทรัพย์ที่ลงทุน การปรับสัดส่วนพอร์ตลงทุนที่เหมาะสม หรือภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดทุนในช่วงนั้น ๆ

ใช้ภาษีช่วยเพิ่มเงินได้
กรมสรรพากรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สมาชิกและนายจ้างที่มีสวัสดิการดังกล่าว โดยสมาชิกสามารถนำเงินที่ส่งเข้ากองทุนมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีเพื่อหักจากเงินได้ก่อนที่จะนำไปคำนวณภาษี ในจำนวนตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับเงินออมระยะยาวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หรือเบี้ยประกันบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท นั่นแปลว่า หากสมาชิกสะสมเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น จะได้รับลดหย่อนภาษีมากขึ้นตามไปด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ภาษีที่เราเสียน้อยลงกลายเป็นเงินที่เราได้กลับคืนมานั่นเอง 

นอกจากนี้ เมื่อสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลาออกจากงานในช่วงที่อายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่อง หรือเรียกได้ว่า “เกษียณอายุ” ตามเงื่อนไขภาษี หากต้องการนำเงินออกจากกองทุน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมด แต่หากไม่เข้าตามเงื่อนไขภาษีดังกล่าว จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีแตกต่างกันไป โดยผลตอบแทนจากเงินลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังได้รับประโยชน์จากภาษี

เริ่มวันนี้เพื่อความสุขในอนาคต
หลายท่านอาจเห็นว่าการเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว ยังมีเวลาอีกนานหรือยังไม่คิดที่จะเริ่มเก็บเงินไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในยามเกษียณ แต่เราสามารถให้คำตอบกับตัวเองได้แน่ชัดหรือไม่ว่า วันไหนจะเป็นวันที่เราพร้อม และหากยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน จะดีกว่าไหมถ้าเรามาสร้างความพร้อมกันตั้งแต่วันนี้ เพราะการเริ่มสะสมซองอั่งเปาในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ย่อมทำให้มีเงินก้อนจำนวนมากพอที่จะทำให้มีชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบายได้

ยิ่งให้ยิ่งได้
สำหรับคนที่เป็นลูกจ้างหรือพนักงานบริษัทที่สนใจออมหรือลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่นายจ้างไม่มีสวัสดิการให้ อาจปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทถึงความเป็นไปได้ที่นายจ้างจะจัดให้มีสวัสดิการนี้ขึ้น โดยชี้ให้เห็นข้อดีที่นายจ้างจะได้รับ เพราะนอกจากจะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและทำให้เกิดความภักดีต่อองค์กรแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร อีกทั้งนายจ้างยังได้รับประโยชน์ทางภาษีจากการนำเงินสมทบเข้ากองทุนไปหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนคำนวณภาษีอีกด้วย ส่วนนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วก็อาจพิจารณาขยายเพดานเงินสมทบเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างต่อไป

ท้ายที่สุดนี้ ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านใช้โอกาสอันดีในเดือนแห่งเทศกาลตรุษจีนและวันแห่งความรักในเดือนนี้ มอบความปรารถนาดีให้แก่ตัวเองด้วยการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับคนที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน และสำหรับเพื่อนสมาชิกก็น่าจะใช้โอกาสนี้เพิ่มเงินสะสมเข้ากองทุนกันครับ ในอนาคตข้างหน้าเมื่อถึงวันที่เราเกษียณและได้เปิดซองอั่งเปาที่สะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เราก็จะพบความสุขใจและความภาคภูมิใจว่า เราทำได้นะ!

“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ อั่งเปาตั่วตั่วไก๊” มอบอั่งเปาให้ตัวเรากันนะครับ    


ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์



บทความอื่น ๆ

บทบาทบริษัทจัดการ สะท้อนทุกบททุกบาทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

บริษัทจัดการทุกรายนอกเหนือจากการบริหารจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามนโยบายการลงทุนที่สมาชิกเลือกไว้แล้ว ยังมีบทบาทอื่นอย่างไรอีก

Q&A กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อมีคำถามมาก็มีคำตอบไป

เมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างให้ นายจ้างได้ ลูกจ้างมั่นคง” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนากว่า 380 ราย ภายในงานสัมมนามีผู้สนใจสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับทางเลือกในการออมภาคบังคับ

การมีระบบการออมภาคบังคับจะช่วยตอบโจทย์การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ของไทย และบรรเทาปัญหาเรื่องคนไทยขาดการวางแผนทางการเงินและมีเงินเก็บไม่เพียงพอยามเกษียณ 

ดูทั้งหมด