บทความ

บทบาทบริษัทจัดการ สะท้อนทุกบททุกบาทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

SHARE

บทบาทบริษัทจัดการ สะท้อนทุกบททุกบาทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


9 สิงหาคม 2566
โดย นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล
ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

จากบทความที่แล้วที่พูดถึงการคัดเลือกบริษัทจัดการที่จะมาเป็นมือขวาของคุณ เมื่อคุณเริ่มคิดมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อ่านย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/sec.or.th/posts/675541921285122) ว่านอกจากจะต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่ออกโดยสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว จะต้องพิจารณาแง่มุมไหนอีกบ้าง และในบทความนี้จะมายกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นว่า บริษัทจัดการทุกรายนอกเหนือจากการบริหารจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามนโยบายการลงทุนที่สมาชิกเลือกไว้แล้ว ยังมีบทบาทอื่นอย่างไรอีก มาดูตัวอย่างตามด้านล่างกัน

1. การเปิดเผยข้อมูล
บริษัทจัดการต้องเปิดเผยผลตอบแทนของนโยบายการลงทุนต่อคณะกรรมการกองทุนและต้องเทียบเคียงกับผลตอบแทนของดัชนีชี้วัดและเครื่องมือวัดผลการดำเนินงานอื่น ๆ พร้อมคำอธิบายที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ว่าผลตอบแทนของนโยบายการลงทุนของตนสูงกว่าหรือต่ำกว่าตลาดอย่างไร โดยพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูลคือ ความครบถ้วน ความถูกต้อง การไม่บิดเบือนความจริง และการไม่ทำให้เข้าใจผิด

2. การประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุน 
บริษัทจัดการต้องให้สมาชิกแต่ละรายทำแบบประเมินความเสี่ยง หากสมาชิกเลือกนโยบายการลงทุนที่ไม่ตรงกับความเสี่ยงที่ตนรับได้ บริษัทจัดการต้องเตือนให้สมาชิกทราบก่อนให้สมาชิกลงนามยอมรับความเสี่ยงนั้น และจัดให้มีการทบทวนความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนทุก 2 ปีด้วย

3. ระบบจัดการต่าง ๆ 
บริษัทจัดการต้องมีระบบจัดการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างและสมาชิก อาทิ ระบบทะเบียนสมาชิก ระบบเกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน เพื่อให้สมาชิกสามารถติดตามและเห็นจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบของตนเองได้  นอกจากนี้ ยังเพิ่มความสะดวกให้แก่สมาชิก
ในการสับเปลี่ยนกองทุน การย้ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) และจัดให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลภาษีเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

4. การรับเรื่องร้องเรียน
บริษัทจัดการต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ผู้รับผิดชอบ กระบวนการและช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ดำเนินการจัดการเรื่องร้องเรียน ไว้อย่างชัดเจน โปร่งใส และรวดเร็ว เพื่อให้สมาชิกได้รับการคุ้มครองสิทธิที่พึงได้รับได้อย่างเหมาะสม
     
อย่างไรก็ดี 4 ข้อดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างบทบาทของบริษัทจัดการที่ต้องมี อาจทำให้เห็นภาพของการคาดหวังต่อบริษัทจัดการว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้างระหว่างที่บริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การพูดคุยทำความเข้าใจและตกลงระหว่างกันตั้งแต่ต้นจะเป็นการสื่อสารที่ชัดเจนที่สุด หากคณะกรรมการกองทุนท่านใดต้องการ Toolkit เพื่อช่วยเป็นแนวทางการคัดเลือกบริษัทจัดการที่จะเข้ามาดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของท่าน สามารถคลิกเข้าไปได้ที่ https://www.thaipvd.com/uploads/article/3edb7c77-eb64-4ff3-9963-c49c208f4559

#สำนักงานกลต #กลต #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #ProvidentFund #PVD #กองทุนเพื่อการเกษียณ #เกษียณ #thaipvd

**************************************************************************************************

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์



บทความอื่น ๆ

Q&A กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อมีคำถามมาก็มีคำตอบไป

เมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างให้ นายจ้างได้ ลูกจ้างมั่นคง” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนากว่า 380 ราย ภายในงานสัมมนามีผู้สนใจสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับทางเลือกในการออมภาคบังคับ

การมีระบบการออมภาคบังคับจะช่วยตอบโจทย์การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ของไทย และบรรเทาปัญหาเรื่องคนไทยขาดการวางแผนทางการเงินและมีเงินเก็บไม่เพียงพอยามเกษียณ 

ออมภาคสมัครใจและภาคบังคับ กับ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” (Completely Aged society) โดยเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรตั้งแต่อายุ 65 ปี มากกว่า 14% ในปี 2566 และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super-aged society) คือมีประชากรตั้งแต่อายุ 65 ปี มากกว่า 20% ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเร่งเตรียมความพร้อมในการพึ่งพาตนเองให้แก่ผู้สูงอายุและวัยทำงานที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต รวมถึงความพร้อมทางด้านการเงินของผู้เกษียณอายุ 

ดูทั้งหมด