SHARE

“3 ทางเลือกในการบริหารเงิน” จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ


28 พฤศจิกายน 2566

ฝ่ายสื่อสารองค์กร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 


ช่วงเวลาปลายปี อาจเป็นช่วงเวลาที่ผู้มีรายได้ประจำหลายท่านเฝ้ารอถึงวันหยุดยาวเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน ชาร์จพลังและกลับมาทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้มีรายได้ประจำอีกหลายท่านที่อาจจะได้พักผ่อนยาวเนื่องจากเกษียณอายุตามปีปฏิทิน

ถ้าบริษัทมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน ในช่วงวันที่พนักงานเกษียณจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงาน ซึ่งรวมถึงเงินสมทบจากบริษัทและผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน โดยเงินจำนวนนี้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี หากเข้าเงื่อนไขที่พนักงานเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน และเกษียณเมื่ออายุไม่น้อยกว่า 55 ปี

การเตรียมตัวล่วงหน้าและเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณ จะส่งผลดีต่อสมาชิกผู้เตรียมเกษียณ (สมาชิกฯ) ที่จะเลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับตนเองที่สุดจาก 3 ทางเลือก ดังนี้

1. การคงเงิน

หากสมาชิกฯ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ในกองทุนเช่นเดิมได้ ซึ่งเงินที่คงอยู่ในกองทุนจะได้รับการบริหารตามนโยบายการลงทุนที่เลือกไว้ ทั้งนี้ สมาชิกฯ ควรศึกษาเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ตามที่ข้อบังคับกองทุนกำหนด เช่น การคงเงินจะมีค่าธรรมเนียมรายปี เป็นต้น

2. การรับเงินเป็นงวด

หากสมาชิกฯ ต้องการใช้เงินบางส่วนที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยไม่ต้องการถอนเงินออกมาทั้งหมด สามารถแจ้งขอรับเงินเป็นงวด ๆ ได้ เช่น ทุกไตรมาส ทุกครึ่งปี หรือทุกปี เพื่อให้เงินส่วนที่ยังคงอยู่ในกองทุนยังได้รับการบริหารตามนโยบายการลงทุนที่เลือกไว้ได้ โดยสมาชิกฯ ควรศึกษาเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามที่ข้อบังคับ    กองทุนกำหนด เช่น การรับเงินเป็นงวดจะมีค่าธรรมเนียมการรับเงินรายงวด เป็นต้น

3. การถอนเงินทั้งหมด

หากสมาชิกฯ มั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะได้รับมาทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจนำไปลงทุนต่อเองในด้านต่าง ๆ หรืออาจนำไปฝากธนาคารเพื่อความสะดวกในการถอนเงินด้วยตนเอง สามารถแจ้งขอรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดของตนได้

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเลือกทางเลือกใด สมาชิกฯ ควรระมัดระวังมิจฉาชีพหรือบุคคลใกล้ชิดที่แฝงตัวเข้ามาหลอกลวงลงทุนด้วยเจตนาที่ไม่ดี ไม่เช่นนั้นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมมาตลอดหลายสิบปีอาจหายไปได้         ในพริบตา (อ่านบทความเรื่อง “เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งชีวิต ... อย่าปล่อยให้มิจฉาชีพมาหลอกไป” ได้ที่ https://www.facebook.com/sec.or.th/posts/716236927215621 หรือ https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2566/250966.pdf 

ดังนั้น ช่วงระยะเวลาที่เหลืออีก 1-2 เดือนก่อนการเกษียณ สมาชิกฯ ควรศึกษาแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อประกอบการพิจารณาทางเลือกที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตหลังเกษียณของตนเองที่สุด