ทำไมนะ...หลายคนเห็นประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund แต่ยังไม่สมัครซักที มีหลากหลายเหตุผลมากมายแต่เหตุผลหนึ่งที่ค่อนข้างได้ยินบ่อยก็คือ เดี๋ยวก็เปลี่ยนงานแล้ว หรือกลัวจะเป็นภาระผูกพัน กว่าจะเอาเงินออกได้ต้องหลังเกษียณนู่นแน่ะ
เอาจริง ๆ ถ้าบริษัทมีให้สมัคร ก็สมัครก่อนเถอะ เพราะได้เงินจากนายจ้างอีกก้อนหนึ่งเหมือนได้เงินเดือนเพิ่ม แต่ถ้าในอนาคตมีเหตุจำเป็นให้ต้องเอาเงินออกมาใช้ก่อน หรือต้องเปลี่ยนงาน ก็มีทางเลือกให้จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เหมือนกันนะ ไม่ว่าจะเป็นการออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งแบบลาออกจากงานและไม่ลาออกจากงาน
โดยปกติแล้วการออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะได้รับเงินคืนมาก้อนหนึ่ง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ เงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ แต่เงินจำนวนนี้เราจะได้เท่าไรขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในข้อบังคับกองทุน
เมื่อเราตัดสินใจออกจากงาน ส่วนที่มั่นใจได้ว่าไม่ต้องนำมาเสียภาษีเพิ่มเติม คือ เงินสะสม เพราะเป็นส่วนที่เราสะสมเองในแต่ละเดือน ซึ่งเงินส่วนนี้จะไม่ถูกนำมาคิดภาษี แต่ส่วนอื่น ๆ ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็น เงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และ ผลประโยชน์เงินสมทบ จะต้องนำมาคำนวณภาษี โดยนำมารวมถือเป็นเงินได้ ที่เราได้รับจากการทำงาน
เพียงแต่ในกรณี ออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอันเนื่องจากลาออกจากงานนั้น หากเรามีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะมีสิทธิ์ในการเลือกแยกคำนวณภาษีต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่น ซึ่งสามารถลดหย่อนได้กว่าครึ่งหนึ่งทีเดียว แต่ในกรณีที่เราออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยอายุงานไม่ถึง 5 ปี หรือออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่ได้ลาออกจากงาน เราจะไม่ได้รับสิทธินี้
ตัวอย่าง นาย A มีรายได้ทั้งปี 1,200,000 บาท เมื่อตัดสินใจลาออกจากงาน มีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสะสมไว้จำนวน 1,600,000 บาท (แบ่งเป็นเงินสะสม 700,000 บาท เงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบรวมทั้งหมด 900,000 บาท) โดยนาย A มีอายุงานทั้งหมด 10 ปี
กรณีนี้ นาย A สามารถคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยนำส่วนของเงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบรวมทั้งหมด 900,000 บาท แยกต่างหากจากการคำนวณภาษีเงินได้จากส่วนของเงินเดือน 1,200,000 บาท
แต่ถ้าหากตัวอย่างข้างต้น เปลี่ยนเป็น นาย A มีอายุงานทั้งหมด 3 ปี แบบนี้ นาย A จะต้องนำส่วนของเงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสมและผลประโยชน์เงินสมทบรวมทั้งหมด 900,000 บาท มารวมคำนวณกับเงินเดือนจำนวน 1,200,000 บาท จึงเป็นเงินที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 2,100,000 บาท
และถ้าหากนาย A ไม่ได้ลาออกจากงาน แต่ตัดสินใจออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว กรณีนี้จะไม่ได้รับสิทธิแยกคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้ว่าจะทำงานมาเกิน 5 ปีก็ตาม
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงจะเห็นแล้วว่า การออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้เราเสียทั้งโอกาสการสะสมเงินต่อเพื่อเกษียณอายุ รวมถึงยังไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดที่เงินทั้ง 4 ส่วนจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งหมด
ดังนั้น ถ้าหากใครคิดว่าจะไม่นำเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาเพราะต้องการให้มีเพียงพอในวันเกษียณ และรู้ดีว่าตัวเองมีเงินสดหมุนเวียนที่เพียงพอแล้วล่ะก็ แบบนี้จะมีทางเลือกเพิ่มเติมอยู่ 3 วิธี ได้แก่
1. ทำเรื่องขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานเดิม โดยไม่นำออกมา (มีค่าธรรมเนียมรายปีไม่เกิน 500 บาท) เพื่อให้เงินก้อนนี้ทำหน้าที่สร้างผลตอบแทนต่อไป และนำออกเมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไขของกฎหมาย นั่นคือ อายุ 55 ปี
2. ย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานแห่งใหม่ (ถ้ามี) โดยแจ้งความประสงค์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสับเปลี่ยนให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมนั้นถูกโยกย้ายไปเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนใหม่ เพื่อให้สะสมเงินลงทุนต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้
3. ย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รองรับ (RMF for PVD) ของ บลจ. แห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อให้แผนเกษียณยังทำงานต่อ โดยสามารถเลือกลงทุนในประเภทของกองทุนที่เราต้องการตามนโยบายของแต่ละ บลจ. ที่มีให้เลือกแตกต่างกันไป
โดยเราไม่จำเป็นต้องซื้อ RMF ประเภทนี้ต่อเนื่อง เพราะเป็นการสับเปลี่ยนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (แยกออกจาก RMF ปกติทั่วไป) ซึ่งสามารถขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปีเช่นเดียวกันกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นั่นเอง
ท้ายที่สุดแล้วจะเห็นว่า จริง ๆ แล้วเรามีทางเลือกหลากหลายในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อต้องลาออก ไม่ว่าจะจากงานหรือกองทุนก็ตาม เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราจำเป็นต้องเอาเงินก้อนนี้ออกมามากน้อยแค่ไหน ถ้าหากนำเงินก้อนนี้ออกมา เรายังจะมีเงินเพียงพอที่จะเกษียณหรือไม่ แต่ทางที่ดีที่สุดนั้น ถ้าเรายังรักษาเงินก้อนนี้ให้สร้างผลตอบแทนต่อไปได้ นอกจากเราได้รับผลประโยชน์ด้านภาษีเต็ม ๆ แล้ว เรายังมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณอีกด้วย มีแต่ได้กับได้!
อย่างไรก็ดี คำตอบที่ดีที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราทุกคนควรจะพิจารณาเลือกทางที่เราได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งจำนวนเงินและความสุขในชีวิต และไม่ติดปัญหาใด ๆ ในวันที่เราต้องเกษียณ