ผศ.ดร. รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับใครที่มีความคิดเกี่ยวกับการออมเพื่อเกษียณอายุ ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดมูลค่าของความมั่งคั่ง หรือผลตอบแทน ณ วันที่เกษียณอายุ คือผลตอบแทนที่ได้รับ “ตลอดช่วงระยะเวลา” ของการออมเงิน
แต่คนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนระยะสั้นที่เกิดบางช่วงเวลา หรือความพยายามจะสร้างผลตอบแทนให้สูงที่สุด “Maximize investment returns” จนลืมนึกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เช่น ผู้ลงทุนส่วนใหญ่พยายามเลือกหุ้นที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่า 20% ต่อปี หรือพยายามลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทน 5-10% ภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งการจับจังหวะในการลงทุน (Market timing) และการเลือกหุ้นที่มีผลตอบแทนชนะตลาด (Stock picking) ในระยะเวลาอันสั้นนี้ ไม่ใช่ความสามารถหรือทักษะที่นักลงทุนคนใดจะสามารถทำได้ตลอดเวลา
ดังนั้น การออมเงินเพื่อการเกษียณอายุที่ถูกต้อง ผู้ออมควรให้ความใส่ใจอย่างมากต่อการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวที่สม่ำเสมอ (Consistency) มากกว่าการพยายามสร้างผลตอบแทนที่สูงที่สุด ถึงแม้ว่าผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจะไม่สูงมาก แต่เมื่อเราพิจารณาในระยะยาวแล้ว หากผลตอบแทนนั้นสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นระยะเวลานาน วิธีการนี้จะเป็นกลยุทธ์ที่สามารถเอาชนะแนวทางลงทุนที่พยายามสร้างผลตอบแทนสูงสุดในระยะสั้นได้
ผู้ออมต้องตระหนักอยู่เสมอว่าผลตอบแทนจากการลงทุนมี 2 ประเภท ได้แก่ 1. ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา ที่เรียกว่า Capital gain และ 2. ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ที่เรียกว่า Dividend yield หรือ Interest yield ซึ่งผลตอบแทนทั้งสองประเภทนี้มีส่วนช่วยให้การออมเงินสามารถเป็นไปตามเป้าหมายมากขึ้นได้ ข้อควรระวังคือ จะต้องไม่ใส่ใจกับผลตอบแทนที่เกิดจากส่วนต่างราคาในระยะเวลาอันสั้นเพียงอย่างเดียว และจะต้องพยายามหาแนวทางที่จะนำดอกเบี้ยหรือเงินปันผลไปทำการลงทุนต่อ (Reinvest) อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ผลตอบแทนมีการทบต้นทวีคูณในระยะยาว
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์