เตรียมตัวเกษียณ
สำนวนที่ว่า Rome was not built in a day กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่ได้สะสมภายในวันเดียวฉันนั้น กว่าจะสะสมเงินในกองทุนให้กลายเป็นเงินออมก้อนหนึ่งที่เพียงพอยามเกษียณต้องใช้เวลาหลายปี และแน่นอนว่าสมาชิกกองทุนทุกคนก็ต้องอยากมีชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุขโดยมีเงินใช้จ่ายเพียงพอจนถึงสิ้นอายุขัย ดังนั้น สมาชิกในวัยก่อนเกษียณต้องทำอย่างไรบ้างให้ได้ความสุขตามที่หวังนั้น
1. การปรับสัดส่วนการลงทุน
สมาชิกในวัยเตรียมเกษียณจำเป็นต้องปรับสัดส่วนการลงทุนให้เงินที่มีอยู่ในกองทุนมีความปลอดภัยและไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้เงินลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้สมาชิกกองทุนอาจลงทุนในสินทรัพย์เติบโตสูงอย่างหุ้น สินทรัพย์ทางเลือก (เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์) เพื่อเพิ่มโอกาสการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ผลตอบแทนสูงก็มาพร้อมกับความเสี่ยงสูงเช่นกัน หากช่วงใกล้เกษียณเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจขึ้น อาจเป็นเหตุให้ผลการดำเนินงานติดลบได้ถึง 30% ดังนั้น เมื่อสมาชิกเข้าสู่วัยเตรียมเกษียณจึงควรปรับสัดส่วนการลงทุนให้อยู่ในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงและความเสี่ยงต่ำให้มากขึ้นอย่างตราสารหนี้หรือเงินฝากธนาคารเพื่อลดความผันผวนของผลตอบแทนและเพื่อให้มูลค่าของเงินในกองทุนมีความมั่นคงสามารถรู้แน่ชัดว่าจะมีมูลค่าเท่าไรตอนเกษียณอายุ แม้จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเดิม แต่มั่นใจได้ว่าเงินในกองทุนจะปลอดภัยมากกว่าแน่นอน
อย่างไรก็ดี สมาชิกที่เตรียมเกษียณไม่ควรปรับสัดส่วนการลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำทั้งหมด 100% เนื่องจากควรแบ่งให้เงินบางส่วนเติบโตในรูปแบบสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงบ้างเพื่อให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อและให้เงินกองทุนที่สะสมไว้งอกเงยเพียงพอไว้ใช้ในวัยเกษียณ
นอกจากนี้ ช่วงหลังเกษียณ สมาชิกควรมีการลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงสูงและความเสี่ยงต่ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารจัดการเงินก้อนสุดท้ายอย่างรอบคอบและควรพึงระวังการหลอกลวงให้ร่วมลงทุน เพื่อให้การใช้จ่ายเงินออมก้อนนี้เพียงพอตลอดจนสิ้นอายุขัย
2. การนำเงินออกจากกองทุน
สมาชิกกองทุนในวัยใกล้เกษียณควรศึกษาวิธีการและเงื่อนไขการนำเงินออกจากกองทุนซึ่งดูได้จากข้อบังคับกองทุน โดยการนำเงินออกมี 2 รูปแบบ ได้แก่ การทยอยนำเงินออกเป็นงวด (ลักษณะคล้ายกับบำนาญ) และการนำเงินออกทั้งหมดทีเดียว (ลักษณะเดียวกับบำเหน็จ)
การทยอยนำเงินออกเป็นงวดจะทำให้เกิดการออมที่ต่อเนื่องและมีคนบริหารเงินให้ยังคงงอกเงย อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงจากการนำเงินออกทั้งก้อนไปใช้โดยไม่ได้วางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบและลดความเสี่ยงที่จะลงทุนในทรัพย์สินหรือกิจการที่มีการหลอกลวง (scam) ทั้งนี้ ไม่ว่าจะนำเงินออกในรูปแบบใด สมาชิกจำเป็นต้องมีการวางแผนการใช้เงินล่วงหน้าอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหรือสูญเสียเงินออมก้อนนี้เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอในช่วงบั้นปลายของชีวิต และหากสมาชิกจะเกษียณก่อนเวลา (early retirement) ควรคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย
3. การป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวง
ที่ผ่านมาเรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับการถูกมิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดีชักชวนและหลอกให้ลงทุนโดยกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มักเน้นเป้าหมายที่กลุ่มวัยเกษียณหรือผู้สูงอายุเป็นหลักด้วยการสร้างความหวังให้เห็นผลตอบแทนที่สูงจากการลงทุนหรือจงใจให้เกิดความเข้าใจผิดบางประการจากการบอกข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งมีหลายกรณีที่ผู้ถูกหลอกต้องสูญเสียเงินออมที่สะสมมาทั้งชีวิต ดังนั้น สมาชิกกองทุนโดยเฉพาะสมาชิกในวัยเตรียมเกษียณต้องรู้เท่าทันกลยุทธ์การหลอกลวงพวกนี้ ตัวอย่างเช่น
แชร์ลูกโซ่
การหลอกลวงแบบแชร์ลูกโซ่มีหลากหลายลักษณะในรูปแบบต่าง ๆ และปรับเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย อาทิ การออมเงิน การซื้อสินค้าแบบขายตรง คริปโทเคอร์เรนซี ลักษณะที่สังเกตง่ายที่สุดคือ การได้รับผลตอบแทนที่สูงมากในระยะเวลาอันสั้น เช่น ได้รับผลตอบแทน 10% หากลงทุนเพียง 1 สัปดาห์ หรือได้รับผลตอบแทน 100% หากลงทุนเพียง 1 เดือน เป็นต้น ในช่วงแรกมักมีการจ่ายผลตอบแทนจริงเพื่อให้หลงเชื่อและชักชวนคนมาเพิ่ม ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับนั้นไม่ได้มาจากการลงทุนจริง แต่มาจากเงินที่หลอกลวงผู้อื่นมาเป็นทอด ๆ นั่นเอง ดังนั้น หากมีการขอให้ชวนเพื่อนมาลงทุนด้วย ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ และควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนนำเงินออมของเราไปลงทุนทุกครั้ง เพื่อไม่ให้สูญเสียเงินก้อนใหญ่ไปได้ง่าย ๆ
รักลวง (Romance Scam)
ผู้หลอกลวงอาจอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ มักจะใช้ภาพบุคคลหน้าตาดีและคำพูดที่ทำให้ตกหลุมพรางได้ง่าย โดยจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยแบบเห็นหน้าเพื่อไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง การพูดคุยจะเน้นให้เกิดความหลงเชื่อว่ามีความรักเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดจะพูดขอให้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ ค่าปรับของสินค้าที่ศุลกากร ค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ การวางเงินมัดจำเพื่อซื้อบ้าน ซึ่งผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณมักมีเวลาว่างพูดคุยกับผู้หลอกลวงประเภทนี้ จึงมักตกเป็นเหยื่อได้โดยง่ายและสูญเสียเงินออมของตนเองไปในที่สุด
การปลอมตัวเป็นบุคคลใกล้ชิด
การหลอกลวงลักษณะนี้อาศัยความเป็นห่วงของผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ โดยผู้หลอกลวงจะปลอมตัวเป็นลูกหลานหรือบุคคลใกล้ชิดที่กำลังเดือดร้อนและอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการเงินโดยด่วน เพื่อทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณตกใจและเป็นการเร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงินให้ในทันที ซึ่งส่วนใหญ่จะหลอกลวงทาง Line และ Facebook โดยอาจเป็นได้ทั้งการตั้งบัญชีผู้ใช้งาน (account) ใหม่ที่เหมือนของลูกหลานหรือบุคคลใกล้ชิด และการขโมยข้อมูล (hack account) จริงของลูกหลานหรือบุคคลใกล้ชิดนั้น ๆ
การให้ข้อมูลไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน
ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณบางท่านมักนิยมฝากเงินกับธนาคารและคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ธนาคารบางท่าน หากเจอผู้ไม่ประสงค์ดีชักชวนให้ฝากเงินแต่กลับเป็นการทำประกัน ย่อมสูญเสียเงินบางส่วนจากการเวนคืนประกันหรือสูญเสียสภาพคล่องหลายปีกว่าจะถึงระยะเวลาเอาประกัน และถ้าเป็นการทำประกันสุขภาพก็อาจสูญเสียเงินทั้งก้อนไปก็เป็นได้
ตัวอย่างกลยุทธ์การหลอกลวงข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของมิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดีเท่านั้น อย่างไรก็ดี การป้องกันการถูกหลอกที่ดีที่สุดคือ “สติ” เพราะรูปแบบการหลอกลวงจะพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ในหลากหลายรูปแบบในอนาคต
การวางแผนและบริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ใช้เวลาหลายสิบปีในการเก็บสะสมมา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมตัวก่อนถึงวัยเกษียณ เพื่อปกป้องเงินออมก้อนนี้ไว้สำหรับใช้จ่ายอย่างไม่ต้องกังวลใจในช่วงบั้นปลายชีวิตหรือหลังเกษียณอายุตามที่ตั้งใจไว้