16 กันยายน 2564
นางศิษฏศรี นาคะศิริ
ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ปี 2564 ได้ล่วงผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว เพื่อนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) หลายท่านอาจเริ่มหันกลับมาทบทวนการออมเงินและการลงทุนของตัวเองว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้และเข้าใกล้เป้าหมายการเก็บออมเพื่อการเกษียณอายุมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยืดเยื้ออาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการออมและการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่มากก็น้อย โดยหากพิจารณาจากข้อมูลสถิติในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 พบว่ามีจำนวนสมาชิกกองทุนลดลงจากเดิม 42,391 ราย หรือคิดเป็น 1.45% จากปีก่อนหน้า เทียบกับที่เคยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 3% เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเทียบกับแรงงานภาคเอกชนในระบบลดลงเหลือเพียง 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ซึ่งอยู่ที่ 20%
สถานะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาชิกนำเงินออกจากกองทุนเพิ่มขึ้น
จำนวนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากการที่สมาชิกบางรายต้องออกจากงาน และบางรายลาออกจากกองทุนแต่ยังคงทำงานอยู่ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 สมาชิกที่ออกจากงานได้รับเงินจากกองทุนเป็นจำนวน 27,998 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 44.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สมาชิกบางรายอาจมีความเสี่ยงจากการขาดรายได้ระหว่างที่ยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ และอาจเลือกที่จะนำเงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาใช้ในยามจำเป็น ซึ่งอาจส่งผลให้เงินออมเพื่อใช้ในยามเกษียณมีน้อยลงหรือหมดลงได้
สำหรับสมาชิกที่ต้องออกจากกองทุน หากยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้และยังต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ แนะนำให้คงเงินไว้ในกองเดิม (กรณีที่นายจ้างยังคงสวัสดิการ ไม่ได้เลิกกอง) เพื่อรอโอนย้ายไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ หรืออาจย้ายเงินไปยังกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ หรือที่เรียกกันว่า RMF for PVD เพื่อให้การลงทุนเติบโตต่อเนื่อง โดย RMF for PVD นี้มีเงื่อนไขทางภาษีเหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย ซึ่งท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบริษัทจัดการลงทุนทุกราย
หากไม่พร้อมก็หยุดพัก
ลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย อาจเลือกหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมสำหรับลูกจ้างหรือเงินสมทบสำหรับนายจ้างเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราวแทนการเลิกเป็นสมาชิกหรือยกเลิกสวัสดิการไปเลย โดยกระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินเป็นการชั่วคราวได้จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้างและนายจ้างที่ยังคงได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มาตรการดังกล่าวช่วยลดผลกระทบและช่วยให้แผนการออมการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะหากนายจ้างใช้สิทธิหยุดหรือเลื่อนส่งเงินสมทบ แต่สมาชิกยังคงอยากส่งเงินสะสมเข้ากองทุนก็สามารถทำได้ เพื่อให้เกิดการออมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ต้องการหยุดหรือเลื่อนส่งเงิน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเสียก่อน แต่หากไม่สามารถจัดประชุมได้ สามารถใช้มติของคณะกรรมการกองทุนซึ่งต้องเป็นมติเอกฉันท์ จากนั้นนายจ้างหรือคณะกรรมการกองทุนแจ้งขอหยุดหรือเลื่อนส่งเงินเข้ากองทุนต่อ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นนายทะเบียน พร้อมเอกสารที่กำหนด ได้แก่ (1) หนังสือรับรองจากนายจ้างว่ามีปัญหาในการดำเนินกิจการเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 และมีปัญหาฐานะการเงินจริง พร้อมระบุว่าจะหยุดหรือเลื่อนส่งเงินถึงเมื่อใด ซึ่งต้องไม่เกินระยะเวลาที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนดไว้ และ (2) รายงานการประชุมใหญ่สมาชิกหรือรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนซึ่งต้องมีรายละเอียดในลักษณะเดียวกับหนังสือรับรองของนายจ้างด้วย