ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (aging society) ตั้งแต่ปี 2548 ด้วยสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2564 ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (aged society) โดยมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ที่ทำให้ประชากรมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้น กอปรกับอัตราการเกิดและการตายลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงวัยของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี เงินออมเพื่อรองรับการเกษียณอายุกลับมีไม่เพียงพอและผู้สูงอายุไม่สามารถพึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานได้เหมือนในอดีต จึงทำให้ขาดรายได้หล่อเลี้ยงชีพและขาดความมั่นคงทางการเงิน
การออมเพื่อการเกษียณจึงเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยได้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนระดับรองต่าง ๆ ได้แก่ แผนแม่บท แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) อีกทั้ง ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บออมระยะยาวผ่านกลไกการออมการลงทุนในช่องทางต่าง ๆ
กองทุนการออมระยะยาวของไทยในปัจจุบันมีหลายประเภท โดยกลุ่มข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขณะที่มนุษย์เงินเดือนมีกองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD) ที่นับเป็นสวัสดิการเพื่อการเกษียณอายุโดยกองทุนเหล่านี้มีรูปแบบที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันออกไป
สำหรับมนุษย์เงินเดือนภาคเอกชน กองทุนประกันสังคมเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐมีให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตน (ตามมาตรา 33) เพื่อเป็นหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิต โดยผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล คลอดบุตร เลี้ยงดูบุตร ทุพพลภาพ ไม่สามารถทำงานได้ หรือว่างงาน ไปจนถึงเมื่อเกษียณอายุแล้ว โดยเงินที่กองทุนประกันสังคมนำมาจ่ายคือ เงินจากการนำส่งของ 3 ฝ่าย ได้แก่ ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเท่ากันในอัตราฝั่งละ 5% ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ แต่ไม่เกิน 750 บาท ส่วนรัฐจ่ายให้ 2.75% โดยเงินทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็น 3 กอง ตามวัตถุประสงค์ของสวัสดิการ คือ 1) กรณีว่างงาน 2) กรณีเลี้ยงดูบุตรและชราภาพ และ 3) กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือคลอดบุตร เรียกได้ว่ากองทุนประกันสังคมไม่ได้เป็นการออมเพื่อรองรับการเกษียณเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการออมเพื่อการดำเนินชีวิตอีกด้วย และเมื่อคำนวณเงินที่จะได้จากกองทุนประกันสังคมในกรณีชราภาพไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญหรือบำเหน็จ อาจไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในช่วงไม่มีรายได้ประจำในวัยเกษียณได้เหมือนช่วงก่อนเกษียณ
มนุษย์เงินเดือนจึงควรมีแหล่งเงินออมในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมเพื่อความอุ่นใจและเป็นหลักประกันได้ว่าจะมีเงินเพียงพอไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ และรูปแบบการออมเพื่อการเลี้ยงชีพหลังเกษียณหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund (PVD) นั่นเอง