การกำกับดูแล
เงินสะสมและเงินสมทบที่สมาชิกและนายจ้างนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับการบริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์ที่รับจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ("บริษัทจัดการ") โดยมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ดูแลเงินให้งอกเงย ซึ่งต้องเป็นบุคลากรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ทั้งในด้านความรู้ที่เกี่ยวข้องและด้านกฎหมาย ประสบการณ์ทำงาน และจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ กล่าวคือ ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนหรือสมาชิกกองทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าผู้จัดการกองทุนรายใดทำหน้าที่ในลักษณะที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน นายทะเบียนอาจสั่งให้ผู้จัดการกองทุนแก้ไข ระงับการกระทำ หรือสั่งถอดถอนผู้จัดการกองทุนก็ได้
ในส่วนของบริษัทจัดการ จะต้องมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทั้งทุนจดทะเบียน การดำรงเงินกองทุน อีกทั้งมีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดและไม่มีลักษณะต้องห้าม มีการบริหารงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ มีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจ มีนโยบายและมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยหน่วยงานทางการจะคอยติดตามดูแลฐานะทางการเงินของบริษัทจัดการอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี หากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้บริษัทจัดการประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ขาดทุน ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามที่กำหนดจนต้องปิดกิจการ เงินสะสะสมและเงินสมทบที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากกองทุนมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทจัดการ โดยเงินในกองทุนจะได้รับการโอนไปยังบริษัทจัดการอื่นที่คณะกรรมการกองทุนเลือกมาเพื่อให้บริหารจัดการเงินกองทุนต่อไป
แม้เงินที่สมาชิกกองทุนแต่ละรายนำส่งเข้ากองทุนจะถูกนำไปรวมกันกับเงินสะสมของสมาชิกรายอื่นและเงินสมทบของนายจ้าง แต่จะมีการแยกจำนวนไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นเงินของสมาชิกแต่ละรายจำนวนเท่าไรโดยดูจากจำนวนหน่วยลงทุนที่ถือครอง หากในอนาคตสมาชิกต้องการถอนเงินออกจากกองทุน ก็จะได้เงินตามจำนวนหน่วยลงทุนที่ถือครองนั้นเอง
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนกับเงินที่ลูกจ้างและนายจ้างนำส่งเข้ากองทุน กฎหมายได้กำหนดให้นายจ้างจะต้องแยกบัญชีและทรัพย์สินของนายจ้างออกต่างหากจากกองทุน และเมื่อบริษัทจัดการนำเงินกองทุนไปบริหาร ก็จะต้องแยกเงินของแต่ละนายจ้างออกจากกัน อีกทั้งหากเป็นกองทุนที่มีหลายนโยบายการลงทุน บริษัทจัดการก็จะต้องทำบัญชีแยกทรัพย์สินของแต่ละนโยบายการลงทุนออกจากกันด้วย
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในกรณีที่นายจ้างหรือสมาชิกมีประเด็นปัญหาหรือข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการให้บริการของบริษัทจัดการหรือพนักงานของบริษัทจัดการ สามารถร้องเรียนไปยังบริษัทจัดการนั้น เพื่อให้พิจารณาและแก้ไขปัญหา หรืออาจแจ้งข้อร้องเรียนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ได้ ทั้งนี้ หากสมาชิกหรือคณะกรรมการกองทุนต้องการเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น ข้อบังคับกองทุน ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน สามารถขอคัดสำเนาได้จากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยกรอกแบบฟอร์มการขอคัดสำเนาเอกสารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พร้อมเตรียมเอกสารที่ใช้ในการขอคัดสำเนาด้วย
เอกสารที่ใช้ในการขอคัดสำเนากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แบบฟอร์มการขอคัดสำเนาเอกสารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
คลิก