รู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

บุคคลที่เกี่ยวข้อง

บุคคลที่เกี่ยวข้อง


การจัดตั้งและดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ลองมาทำความรู้จักโครงสร้างและองค์ประกอบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกัน

1. นายจ้าง

นายจ้างเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ เพื่อเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างมีเงินก้อนไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ ออกจากงาน หรือออกจากกองทุน หากปราศจากนายจ้างแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นายจ้างใจดีที่ยินดีจัดตั้งกองทุนจะร่วมมือกับลูกจ้างจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นมาเพื่อดำเนินการจัดตั้งกองทุน และเมื่อจัดตั้งกองทุนได้แล้ว นายจ้างมีหน้าที่หลักในการนำส่งเงินทั้งในส่วนเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน

2. ลูกจ้าง

ลูกจ้างเป็นบุคคลสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกิดขึ้นได้ โดยเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนเพื่อดำเนินการจัดตั้งกองทุน สมัครเป็นสมาชิกกองทุน เลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ อีกทั้งยินยอมให้นายจ้างหักค่าจ้างในแต่ละเดือนเป็นเงินสะสมเข้ากองทุน และปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อบังคับกองทุน

3. คณะกรรมการกองทุน

คณะกรรมการกองทุนเป็นบุคคลที่เป็นตัวแทนของนายจ้างและลูกจ้างในการจัดตั้งกองทุน บริหารและดูแลเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีหน้าที่สำคัญ อาทิ คัดเลือกบริษัทจัดการเข้ามาบริหารเงินกองทุน ประสานงานกับบริษัทจัดการเพื่อจัดตั้งกองทุน เลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับลักษณะและความต้องการของลูกจ้างส่วนใหญ่ แก้ไขข้อบังคับกองทุน เป็นต้น 

คณะกรรมการกองทุนประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้างซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้แต่งตั้ง โดยอาจเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ลูกจ้างก็ได้ และตัวแทนฝ่ายลูกจ้างซึ่งมาจากการเลือกตั้งของลูกจ้าง โดยผู้ที่ได้รับเลือกอาจไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน แต่ตามหลักแล้วคณะกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้างควรจะเป็นสมาชิกกองทุน เพื่อสามารถเข้าใจสมาชิกและสามารถปกป้องผลประโยชน์ของลูกจ้างได้ดี ในการคัดเลือกคณะกรรมการกองทุน นายจ้างและลูกจ้างจึงควรพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้ได้ตัวแทนที่มีความรู้ความสามารถ เป็นคนดีมีความตั้งใจจริง มีความเสียสละ และสามารถอุทิศเวลาให้แก่เพื่อนสมาชิกได้ ในทำนองเดียวกัน คณะกรรมการกองทุนต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวัง สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากนายจ้างและสมาชิกกองทุน 

4. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจัดการ ผู้รับฝากทรัพย์สิน และผู้สอบบัญชี อีกทั้งยังทำหน้าที่ในฐานะ "นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ในการรับจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนและการแก้ไขข้อบังคับกองทุน รวมทั้งควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนด้วย

5. บริษัทจัดการ

บริษัทจัดการทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินของกองทุน โดยนำไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่คณะกรรมการกองทุนเลือกไว้ให้เกิดดอกออกผลเพื่อเป็นประโยชน์แก่สมาชิกกองทุน ดังนั้น คณะกรรมการกองทุนจึงควรเลือกบริษัทจัดการอย่างรอบคอบและมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในการคัดเลือกเพื่อให้ได้บริษัทจัดการที่เหมาะสม สามารถบริหารจัดการเงินกองทุนได้อย่างปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก  ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะต้องได้รับใบอนุญาตให้สามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนได้ 

รายชื่อบริษัทจัดการที่ให้บริการ คลิก  

6. ผู้สอบบัญชี 

ผู้สอบบัญชีทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานทางการเงิน รับรองความถูกต้องของข้อมูลตามรายงานทางการเงินของกองทุน โดยผู้สอบบัญชีของกองทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ยกเว้นกองทุนที่มีสมาชิกไม่เกิน 100 ราย หรือมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (net asset value: NAV) ไม่เกิน 100 ล้านบาท สามารถใช้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีในการตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินของกองทุน ซึ่งถือว่าเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้

7. ผู้รับฝากทรัพย์สิน

ผู้รัปฝากทรัพย์สินทำหน้าที่ดูแลและเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุน ติดตามสิทธิประโยชน์ในเรื่องเงินปันผล และสิทธิต่าง ๆ ที่ได้จากการถือหุ้นในบริษัทที่กองทุนลงทุน โดยผู้รับฝากทรัพย์สินต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

8. ผู้รับรองมูลค่า

ผู้รับรองมูลค่าทำหน้าที่ตรวจทานการคำนวณ NAV ของบริษัทจัดการว่าถูกต้องหรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เนื่องจากข้อมูล NAV มีความสำคัญต่อการคำนวณจำนวนหน่วยของกองทุนสำหรับสมาชิกที่นำส่งเงินเข้ากองทุน และการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพ โดยผู้รับรองมูลค่าต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

9. นายทะเบียนสมาชิก

นายทะเบียนสมาชิกทำหน้าที่รับเงินจากนายจ้างส่งเข้ากองทุน จ่ายเงินจากกองทุนให้สมาชิกที่ลาออกจากกอง จัดทำบัญชีรายชื่อสมาชิก จำนวนเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของสมาชิกแต่ละราย และจัดส่งรายงานรายตัวสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สมาชิกทราบทุกงวด 6 เดือนของปีปฏิทิน โดยรายงานจะต้องมีรายละเอียดเพื่อให้สมาชิกทราบข้อมูลพอร์ตการลงทุนของตนและสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้  ทั้งนี้ บริษัทจัดการสามารถทำหน้าที่นี้เอง หรืออาจมอบหมายให้บริษัทอื่นเป็นผู้รับดำเนินการแทนก็ได้ โดยบริษัทจัดการต้องมั่นใจว่าบริษัทดังกล่าวทำหน้าที่ และรับผิดชอบ ได้เช่นเดียวกับกรณีที่บริษัทจัดการเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง