รู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

รู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

รู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident fund (PVD) เป็นกองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นโดยสมัครใจ โดยเงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างนำส่งส่วนหนึ่ง เรียกว่า "เงินสะสม" และนายจ้างนำส่งอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า "เงินสมทบ" เป็นประจำทุกเดือน เรียกได้ว่า นอกจากลูกจ้างจะออมเงินเองอย่างต่อเนื่องและมีวินัยแล้ว นายจ้างยังช่วยลูกจ้างออมอีกแรงด้วย ซึ่งถือเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งที่ให้แก่ลูกจ้าง เพื่อไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ

เงินกองทุนดังกล่าวจะมีการนำไปลงทุนให้เกิดดอกออกผลงอกเงยโดยมืออาชีพที่เรียกว่า "บริษัทจัดการ" ตามนโยบายการลงทุนที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนได้เลือกไว้ เช่น นโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ หรือนโยบายการลงทุนในหุ้น โดยดอกผลที่เกิดขึ้นจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่สมาชิกแต่ละรายมีอยู่ในกองทุน  อย่างไรก็ดี กองทุนจะไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลให้แก่สมาชิก แต่จะสะสมเงินจนเป็นก้อนใหญ่เพื่อเก็บไว้รอจ่ายคืนให้สมาชิกที่ “สิ้นสุดสมาชิกภาพ” เช่น เมื่อลาออกจากงาน  ทั้งนี้ สมาชิกจะไม่สามารถถอนเงินบางส่วนออกมาได้ เพราะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการออมเงินระยะยาวเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ

เมื่อความเป็นสมาชิกภาพสิ้นสุดลง  สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสะสมที่ตนเองนำส่งเต็มจำนวน พร้อมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม ในส่วนของเงินสมทบที่มาจากนายจ้างและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ สมาชิกจะได้รับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน “ข้อบังคับกองทุน” (คลิก) ซึ่งสามารถขอดูรายละเอียดได้ที่คณะกรรมการกองทุน

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนงาน สมาชิกก็ยังสามารถเก็บเงินต่อเนื่องได้ในรูปแบบเดิม เช่น โอนเงินจากกองทุนของนายจ้างเดิมไปยังกองทุนของนายจ้างรายใหม่ หรือโอนไปยังกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับเงินโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ (RMF for PVD) การเก็บออมต่อเนื่องนี้จะช่วยให้สมาชิกมีจำนวนเงินออมที่มากพอเมื่อถึงวันเกษียณอายุ ทำให้มีชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ