ลูกจ้างสามารถนำส่งเงินเข้ากองทุนมากกว่าร้อยละ 15 ได้หรือไม่
ไม่ได้ พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 กำหนดว่า ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับกองทุนซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 และไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง ดังนั้น ข้อบังคับกองทุนสามารถกำหนดอัตราเงินสะสมและอัตราเงินสมทบเท่าไรก็ได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 และไม่เกินร้อยละ15 ของค่าจ้าง และลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมในอัตราที่สูงกว่าอัตราสมทบของนายจ้างได้ ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในข้อบังคับ
ค่าจ้างที่จะใช้เป็นฐานคำนวณเงินสะสมและเงินสมทบครอบคลุมอะไรบ้าง และค่าล่วงเวลาที่ได้ทุกเดือนนำมาคำนวณเงินสะสมและเงินสมทบได้หรือไม่
ค่าจ้างที่จะใช้เป็นฐานคำนวณเงินสะสมและเงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานและมีการจ่ายเป็นประจำ แน่นอน สม่ำเสมอ ซึ่งข้อบังคับกองทุนควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ค่าจ้างหมายถึงรายการใดบ้าง เช่น เงินเดือน เป็นต้น ส่วนค่าล่วงเวลาที่ได้ทุกเดือนไม่สามารถเป็นฐานในการคำนวณเงินสะสมและสมทบได้
(1) อัตราเงินสะสม-เงินสมทบ เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ (2) กำหนดอัตราเงินสะสม-เงินสมทบต่างกันได้หรือไม่ และ (3) กำหนดอัตราเงินสะสม-เงินสมทบของสมาชิกแต่ละกลุ่มต่างกันได้หรือไม่
ได้ทั้งสามกรณี โดยสามารถกำหนดอัตราเงินสะสม-เงินสมทบในข้อบังคับกองทุน ซึ่งจะมีผลใช้บังคับนับแต่วันที่นายทะเบียนอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับกองทุน ซึ่งอัตราดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 และไม่เกินร้อยละ15 ของค่าจ้าง
หากมีลูกจ้างสมัครเป็นสมาชิกกองทุนระหว่างเดือน เงินที่นำส่งเข้ากองทุนจะคำนวณอย่างไร
ให้เป็นไปตามที่ข้อบังคับกองทุนกำหนด ซึ่งจะกำหนดให้คำนวณจากฐานค่าจ้างเต็มเดือนหรือจากฐานค่าจ้างตามระยะเวลาที่เป็นสมาชิกของกองทุนก็ได้ แต่หากข้อบังคับไม่ได้กำหนดไว้ ให้นายจ้างหักเงินสะสม-สมทบโดยคำนวณจากฐานค่าจ้างตามระยะเวลาที่เป็นสมาชิกของกองทุนเป็นอย่างน้อย
กรณีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนลาคลอด ลาไปเรียนต่อ หรือถูกพักงานชั่วคราว ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนหรือไม่
ขึ้นอยู่กับว่ามีการจ่ายค่าจ้างหรือไม่
- หากไม่มีการจ่ายค่าจ้าง ก็ไม่สามารถหักเงินสะสมสมทบจากค่าจ้างเข้ากองทุนได้ แต่ลูกจ้างรายนั้นยังคงความเป็นสมาชิกอยู่ได้ตราบใดที่ยังไม่ได้ลาออกจากกองทุน
- หากจ่ายค่าจ้างเพียงบางส่วน ให้คำนวณเงินนำส่งจากค่าจ้างตามสิทธิที่ลูกจ้างรายนั้นได้รับในเดือนนั้น
นายจ้างต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนเมื่อใด
ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่มีการจ่ายค่าจ้าง หากส่งเงินล่าช้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกร้อยละ 5 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ส่งล่าช้าให้แก่กองทุนจนกว่าจะครบถ้วน