SHARE

บริษัทจัดการที่สามารถให้บริการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ("บริษัทจัดการ") ซึ่งต้องมีคุณสมบัติด้านฐานะการเงิน ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ตามที่กำหนด อีกทั้งก่อนเริ่มประกอบธุรกิจจะต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ถึงความพร้อมในการประกอบธุรกิจ เช่น มีการบริหารงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ มีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ขอใบอนุญาต มีนโยบายและมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และมีความพร้อมด้านบุคลากร ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551 

การให้บริการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นอกจากบริษัทจัดการจะต้องคงคุณสมบัติข้างต้นในระหว่างที่ดำเนินธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ยังต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย อาทิ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการวัดผล การดำเนินงานของกองทุนและค่าธรรมเนียมให้ลูกค้าซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนทราบ เสนอนโยบายการลงทุนที่หลากหลายและเหมาะสมกับสมาชิกกองทุนโดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลตอบแทนของแต่ละนโยบายการลงทุน พร้อมทั้งคำแนะนำที่เหมาะสมแก่คณะกรรมการกองทุน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกนโยบายการลงทุน

นอกจากนี้ บริษัทจัดการต้องจัดให้สมาชิกแต่ละรายทำแบบประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบาย การลงทุน จัดทำเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของนโยบายการลงทุน (factsheet) และเผยแพร่ให้สมาชิกทราบผ่านช่องทางที่สมาชิกสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและอย่างทั่วถึง  รวมทั้งทบทวนสรุปข้อมูลสำคัญของนโยบายการลงทุนทุก 6 เดือน และเผยแพร่ภายใน 45 วัน ตลอดจนจัดให้สมาชิกมีสิทธิเลือกนโยบายการลงทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และให้สมาชิกสามารถเข้าถึงคำแนะนำที่เหมาะสมได้โดยง่ายและทั่วถึง  นอกจากนี้ บริษัทจัดการต้องส่งรายงานจำนวนหน่วย มูลค่าต่อหน่วย และมูลค่าของเงินสะสม-เงินสมทบ  พร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินสมทบให้สมาชิกแต่ละรายทราบอย่างน้อยทุกงวด 6 เดือน ภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นงวด และหากสมาชิกขอทราบรายงานดังกล่าวเป็นรายเดือน บริษัทจัดการก็ต้องส่งรายงานดังกล่าวให้สมาชิกทราบด้วย

งบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

บริษัทจัดการต้องจัดทำบัญชีแสดงฐานะทางการเงินของกองทุน และเสนองบการเงินพร้อมรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต่อที่ประชุมใหญ่สมาชิกของกองทุนเพื่อรับรองงบการเงิน และเก็บรักษางบการเงินของกองทุน รายงานการสอบบัญชี และเอกสารแสดงจำนวนสมาชิกและมูลค่าเงินกองทุนไว้ที่บริษัทจัดการด้วย  ทั้งนี้ งบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.  แต่หากเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีสมาชิกไม่เกิน 100 ราย หรือมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (net asset value: NAV) ไม่เกิน 100 ล้านบาท สามารถใช้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีในการตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินของกองทุน ซึ่งถือว่าเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้

การลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

บริษัทจัดการจะต้องจัดการลงทุนโดยคำนึงถึงประโยชน์ของกองทุนและผู้ลงทุนซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนเป็นสำคัญ โดยใช้ความรู้ความสามารถ ความเอาใจใส่ ความระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และลงทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนโยบายการลงทุน เหมาะสมกับประเภทกองทุนและลักษณะของผู้ลงทุน นอกจากนี้ ยังต้องลงทุนตามประเภททรัพย์สินภายใต้อัตราส่วนการลงทุนและการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ single entity limit, group limit, product limit, concentration limit และอัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินของนายจ้างหรือกองทุนที่นายจ้างบริหาร 

ตัวอย่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลข้างต้นเพื่อให้บริษัทจัดการมีการดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐาน มีความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้โดยไม่เป็นภาระเกินความจำเป็น อีกทั้งยังช่วยให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในฐานะผู้ลงทุนในตลาดทุนได้รับการบริการและการคุ้มครองในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุตามที่ได้วางแผนไว้