“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” สวัสดิการด้านการออมและการลงทุนที่ช่วยสร้างขุมทรัพย์เงินเกษียณให้แก่มนุษย์เงินเดือนที่เป็นสมาชิกกองทุน ซึ่งระหว่างทางที่จะไปจนถึงปลายทางการเกษียณนั้น สิ่งที่สมาชิกควรรู้เพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง คือ
1. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกกองทุน
สมาชิกควรรู้สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมและรักษาสิทธิของตนในฐานะสมาชิก
ทุกเดือน : สมาชิกมีหน้าที่ตรวจสอบการนำเงินเข้ากองทุนว่า นายจ้างหักเงินจากเงินเดือนของสมาชิกตามอัตราเงินสะสมที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน (และ/หรือตามที่สมาชิกเลือกไว้) ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 2% และไม่เกิน 15% ของเงินเดือน โดยดูได้จากใบรับรองการจ่ายเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือน หากพบว่าไม่ถูกต้อง ควรรีบแจ้งคณะกรรมการกองทุน
ทุก 6 เดือน : ตามปกติแล้วสมาชิกจะได้รับใบแจ้งยอดหรือรายงานเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (statement) จากบริษัทจัดการเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน ซึ่งเป็นรายงานยอด ณ 30 มิ.ย. และ 30 ธ.ค. ของทุกปี โดยใบแจ้งยอดอาจอยู่ในรูปของกระดาษหรือออนไลน์ขึ้นกับบริษัทจัดการแต่ละแห่ง โดยตัวอย่างข้อมูลที่สมาชิกควรดู คือ
- เงินสะสม : ดูว่ายอดเงินรวม 6 เดือน ตรงกับยอดเงินที่เข้ากองทุนในแต่ละเดือนหรือไม่
- เงินสมทบ : ดูว่ามียอดเงินเข้ากองทุนตามที่กำหนดในข้อบังคับกองทุนหรือไม่
- นโยบายการลงทุน : ดูว่าเป็นนโยบายที่สมาชิกเลือกลงทุนไว้หรือไม่
- จำนวนหน่วย : ดูว่าเพิ่มขึ้นตราบเท่าที่มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น
- มูลค่าต่อหน่วย : หากมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าตอนที่เริ่มลงทุน แสดงว่ากำไร หากมูลค่าน้อยลงกว่าตอนที่เริ่มลงทุน แสดงว่าขาดทุน
ทั้งนี้ สมาชิกสามารถดูตัวช่วยการอ่านผลใบแจ้งยอดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่ คลิก
ทุกปี : สมาชิกควรเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปีเพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของกองทุน ทิศทางการดำเนินงานในปีต่อไป และการบริหารจัดการภายใน อาทิ การรับรองงบการเงินประจำปี การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี การแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้างที่จะมาเป็นตัวแทนดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ให้สมาชิก รวมถึงควรใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้างด้วย ทั้งนี้ ความถี่ในการจัดการเลือกตั้งกรรมการกองทุนขึ้นอยู่กับวาระของกรรมการกองทุน เช่น ทุกปี หรือทุก 2 ปี เป็นต้น โดยการประชุมสามัญประจำปีลักษณะนี้จะเป็นช่องทางให้สมาชิกสามารถซักถามข้อสงสัยในเรื่องต่าง ๆ ได้โดยตรง
2. การติดตามผลการดำเนินงาน
การลงทุนย่อมคาดหวังผลตอบแทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เช่นกัน ดังนั้น สมาชิกจึงควรติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทจัดการว่าบริหารเงินกองทุนอย่างไร สามารถสร้างผลตอบแทนตามที่สมาชิกคาดหวังไว้หรือไม่ ซึ่งนอกจากการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปีแล้ว สมาชิกสามารถติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทจัดการผ่านช่องทาง (1) เว็บไซต์ของบริษัทจัดการ (2) แอปพลิเคชัน (application) ของบริษัทจัดการ และ (3) ใบแจ้งยอดหรือรายงานเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (statement) รอบ 6 เดือน
3. การปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน
หากคณะกรรมการกองทุนได้คัดเลือกนโยบายการลงทุน/กองทุนที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่สมาชิก สมาชิกก็มีสิทธิเลือกปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนและสัดส่วนการลงทุน หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนบริษัทจัดการที่บริหารจัดการกองทุนได้ทุกปี โดยสามารถตรวจสอบจำนวนครั้งในการปรับเปลี่ยนต่อปีกับคณะกรรมการกองทุน
ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจปรับเปลี่ยน สมาชิกควรทําแบบประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยง (suitability test) เพื่อทราบระดับความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้และเพื่อความเหมาะสมในการเลือกลงทุนด้วยตนเอง รวมถึงอาจดูข้อมูลเปรียบเทียบผลการดำเนินงานและค่าธรรมเนียมของกองทุนที่มีให้เลือกเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย โดยอย่าลืมว่าผลการดำเนินงานอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
4. การปรับเปลี่ยนเงินสะสม
หากในข้อบังคับกองทุนไม่ได้กำหนดอัตราเงินสะสมแบบคงที่ สมาชิกมีสิทธิปรับเปลี่ยนจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนได้ทุกปี โดยสามารถปรับขึ้นหรือลงได้ตามความเหมาะสมของสถานะการเงินตนเอง อย่างไรก็ดี นายจ้างบางรายอาจจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่เท่ากับเงินสะสมของสมาชิก ดังนั้น การปรับลดเงินสะสมลงจะส่งผลให้เงินสมทบที่จะได้รับจากนายจ้างลดลงด้วยเช่นกัน
การหักเงินสะสมเข้ากองทุนยิ่งมากยิ่งทำให้มีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณมากขึ้น และยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย สมาชิกจึงควรส่งเงินสะสมในอัตราสูงสุดเท่าที่ทำได้หรือค่อย ๆ เพิ่มอัตราเงินสะสมที่สูงเมื่อมีความพร้อมมากขึ้น ทั้งนี้ สมาชิกสามารถสอบถามวิธีการ ขั้นตอน และช่วงเวลาการแจ้งปรับเปลี่ยนอัตราเงินสะสมได้จากคณะกรรมการกองทุน
หากสมาชิกอยากรู้ว่าตนเองเข้าใกล้เป้าหมายการมีเงินก้อนที่เพียงพอหลังเกษียณมากน้อยเพียงไร สามารถลองทดสอบด้วย “เครื่องมือวางแผนเกษียณ” หากเป้าหมายนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมก็เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะนั่นหมายถึงสมาชิกจะมีชีวิตความเป็นอยู่หลังเกษียณที่สุขสบายตามความต้องการ แต่หากยังห่างไกลจากเป้าหมาย สมาชิกอาจลองปรับเพิ่มอัตราเงินสะสม (รวมถึงปรับนโยบายและสัดส่วนการลงทุน) เพื่อดูว่าช่วยให้เงินก้อนที่จะใช้จ่ายหลังเกษียณใหญ่ขึ้นได้อย่างไร
เงินสะสมที่สมาชิกส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่น ดังนั้น สมาชิกกองทุนยิ่งจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนมากเท่าไร ก็จะสามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
6. การคำนวณภาษีเมื่อสิ้นสมาชิกสภาพ
ก่อนสมาชิกจะพ้นสภาพการเป็นสมาชิกกองทุนไม่ว่าจะลาออกจากงาน ลาออกจากกองทุนโดยไม่ลาออกจากงาน หรือเกษียณอายุ นอกจากสมาชิกควรทราบวิธีการและเงื่อนไขการขอรับเงินกองทุนซึ่งดูได้จากข้อบังคับกองทุนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สมาชิกควรศึกษาข้อมูลก็คือ เรื่องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อนำเงินออกจากกองทุน เพราะเงินกองทุนที่ถูกนำออกจากกองทุนในบางกรณีจะถูกนำไปคำนวณภาษี เนื่องจากเป็นรายได้ที่ได้รับจากการทำงาน อย่างไรก็ดี เงินทั้งหมดจะไม่ถูกคำนวณภาษี (1) หากคงเงินไว้ในกองทุนเดิม (2) หากโอนย้ายเงินไปยังกองทุนของนายจ้างใหม่ และ (3) หากโอนย้ายเงินไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกว่า RMF for PVD