กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคสมัครใจที่เกิดจากการที่ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้นและได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างและนายจ้างต้องมีการกำหนดข้อบังคับกองทุนในเรื่องสำคัญต่าง ๆ เช่น คุณสมบัติการเข้าเป็นสมาชิกภาพ ข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนกรรมการ วิธีการเลือกตั้งและแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุมของคณะกรรมการกองทุน อัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ และข้อกำหนดในการจ่ายเงินเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ เป็นต้น เพื่อเป็นกติกาที่กำหนดขอบเขตและแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนให้คณะกรรมการกองทุนและสมาชิกกองทุนถือปฏิบัติ โดยข้อบังคับกองทุนจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวัตถุประสงค์ของกองทุน
เพื่อให้การกำหนดกรอบกติกามีข้อความที่ครอบคลุมทุกรายการที่เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญกฎหมาย จึงกำหนดให้ข้อบังคับจะต้องมีรายการดังต่อไปนี้
1. ชื่อกองทุนจะต้องมีคำว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" นำหน้า และมีคำว่า "ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" ต่อท้าย
2. ที่ตั้งสำนักงานกองทุน
3. วัตถุประสงค์ของกองทุน
4. วิธีรับสมาชิก และการสิ้นสมาชิกภาพ
5. ข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนกรรมการ วิธีการเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมคณะกรรมการกองทุน
6. ข้อกำหนดเกี่ยวกับเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุน ทั้งนี้ ต้องไม่ต่ำกว่า 2% แต่ไม่เกินกว่า 15% ของค่าจ้าง โดยสมาชิกสามารถจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน มากกว่าเงินสมทบของนายจ้างที่จ่ายเข้ากองทุนได้
7. ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับ
8. ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธี และระยะเวลาในการจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ หรือเมื่อกองทุนเลิก ทั้งนี้ ข้อกำหนดนั้นจะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
9. ข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของกองทุน
10. ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมสมาชิกแยกตามนโยบายการลงทุน (กรณีกองทุนมีหลายนโยบายการลงทุน) หรือการประชุมสมาชิกตามรายนายจ้าง (กรณีกองทุนหลายนายจ้าง)
อย่างไรก็ดี ข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายจะต้องจดทะเบียนกับนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีที่ต้องการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับกองทุน ให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีมติให้แก้ไขนั้น
การแก้ไขข้อบังคับในส่วนที่เป็นข้อกำหนดทั่วไปเป็นอำนาจคณะกรรมการกองทุนในการดำเนินการขอจดทะเบียนแก้ไขต่อนายทะเบียน อย่างไรก็ดี สำหรับข้อกำหนดสำคัญ ๆ บางเรื่องที่หากเปลี่ยนแปลงแล้วมีผลเป็นการกระทบสิทธิของสมาชิก อาจจะจำเป็นต้องขอมติจากที่ประชุมสมาชิกก่อน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาโต้แย้งในภายหลัง
ในการแก้ไขข้อบังคับ ให้คณะกรรมการกองทุนนำไปจดทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีมติให้แก้ไขข้อบังคับผ่านระบบการรับจดทะเบียน (Online Fund Approval and Management System : OFAM) ซึ่งนายทะเบียนจัดทำขึ้น โดยคำขอจดทะเบียนที่มีเอกสารถูกต้องครบถ้วนจะได้รับการอนุมัติภายใน 4 วันทำการ