หลายคนตั้งคำถามว่า “ควรจะมีเงินเก็บเท่าไรเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ” คำตอบคงขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์หรือรูปแบบการใช้เงินหลังเกษียณของแต่ละคน จากข้อมูลในรายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 154 กรกฎาคม 2562 พบว่า จะต้องมีเงินเก็บตอนอายุ 60 ปีโดยประมาณ ดังนี้
*สมมุติให้อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2% และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเท่ากับ 1% ต่อปี
มนุษย์เงินเดือนอาจมีวิธีการออมเงินหลากหลายวิธีเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีเงินที่เพียงพอใช้จ่ายยามเกษียณ แต่เครื่องมือการออมอย่างหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนไม่ควรมองข้าม นั่นคือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง โดยเงินสะสม (เงินที่หักจากเงินเดือนของลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน) และเงินสมทบ (เงินที่นายจ้างจ่ายอีกส่วนหนึ่งเข้ากองทุน) ทุกเดือนจะถูกนำไปบริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ("บริษัทจัดการ") ตามนโยบาย/แผนการลงทุนที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนแต่ละคนเลือกไว้
นโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันมีการลงทุนที่หลากหลายตั้งแต่ระดับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง (ความเสี่ยงต่ำ) จนถึงสินทรัพย์ที่เติบโตสูง (ความเสี่ยงสูง) อาทิ เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ โดยสมาชิกสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับลักษณะและความต้องการของตนเอง (เช่น อายุ การยอมรับความเสี่ยงในการลงทุน และความต้องการผลตอบแทน) ภายใต้นโยบายการลงทุนและกองทุนที่คณะกรรมการกองทุนได้คัดเลือกมาให้เหมาะสมกับสมาชิกกองทุนส่วนใหญ่
ตัวอย่างนโยบายการลงทุนของบริษัทแต่ละแห่ง
1. บริษัท AAA จำกัด มีนโยบายการลงทุนให้เลือก 3 นโยบาย ได้แก่ ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง ความเสี่ยงสูง โดยผสมสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนทั้งในเงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์ทางเลือกให้เรียบร้อยในแต่ละนโยบาย
2. บริษัท BBB จำกัด มีนโยบายการลงทุนให้เลือกถึง 4 นโยบาย แต่ทั้งหมดเป็นความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงปานกลางที่มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้และหุ้นเท่านั้น
3. บริษัท CCC จำกัด ไม่กำหนดนโยบายการลงทุน แต่จะเลือกสินทรัพย์การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาให้ ได้แก่ กองทุนหุ้นต่างประเทศ กองทุนหุ้นไทย กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ สินทรัพย์ทางเลือก โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนแต่ละรายสามารถเลือกลงทุนและกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเองในลักษณะ DIY (Do it yourself) เช่น สมาชิกบางรายอาจเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ 100% อย่างเดียว หรือเลือกลงทุนทั้ง 4 กองเฉลี่ยกองละ 25% หรือเลือกลงทุนแค่ 3 กองในสัดส่วนที่ต้องการตามความเหมาะสมก็ได้
ไม่ว่าบริษัทจะมีนโยบายการลงทุนและกองทุนลักษณะไหน ก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน สมาชิกกองทุนควรรู้จักและเข้าใจตนเองก่อนว่า สามารถรับความเสี่ยงการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน โดยทำแบบประเมินความเสี่ยง ซึ่งสามารถขอได้จากบริษัทจัดการผ่านคณะกรรมการกองทุน เมื่อทราบระดับความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ (risk profile/ risk appetite) ก็สามารถเลือกนโยบายการลงทุน/กองทุนที่เหมาะสมสอดคล้องกับอายุ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และเป้าหมายในการลงทุนของสมาชิก และควรกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง (diversification) ด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นโดยไม่เสี่ยงเกินไป และเพื่อให้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมไว้งอกเงยเพียงพอไว้ใช้ในวัยเกษียณ
อย่างไรก็ดี คะแนนความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของสมาชิก (risk score) ที่ได้จากการทำแบบประเมินความเสี่ยงเป็นเพียงแนวทางการเลือกนโยบายการลงทุนและกองทุนเท่านั้น ในความเป็นจริงสมาชิกอาจเลือกแตกต่างจาก risk score ของตนเองได้ เช่น เลือกลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงกว่าที่ตนยอมรับได้บ้าง ทั้งนี้ ควรต้องตระหนักถึงความเสี่ยงจากการลงทุนว่า การลงทุนในทรัพย์สินที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนมาก ก็มีโอกาสขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน