SHARE

การได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเสียชีวิต

นอกจากรัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สมาชิกที่นำเงินออกจากกองทุนตามเงื่อนไขแล้ว นั่นคือ ลาออกจากงานตอนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกันแล้วการยกเว้นภาษียังครอบคลุมถึงการสิ้นสมาชิกภาพกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิตด้วย

กรณีที่สมาชิกกองทุนเสียชีวิต ผู้จัดการกองทุนจะต้องจ่ายเงินกองทุนให้แก่ “ผู้รับผลประโยชน์” ที่สมาชิกระบุไว้ในหนังสือผู้รับประโยชน์ ซึ่งหนังสือผู้รับประโยชน์อาจมีลักษณะเป็นพินัยกรรมรูปแบบหนึ่งตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ หากสมาชิกระบุผู้รับประโยชน์ไว้ทั้งในหนังสือผู้รับประโยชน์และพินัยกรรมโดยระบุเป็นคนละคนกัน ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนคือ คนที่สมาชิกระบุไว้ในหนังสือผู้รับประโยชน์หรือพินัยกรรมที่ลงวันที่ล่าสุด

จำนวนเงินที่ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกำหนดให้กองทุนจ่ายเงินทั้ง 4 ส่วน คือ เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ ให้แก่ผู้รับผลประโยชน์

ทั้งนี้ หากสมาชิกกองทุนไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ไว้ หรือระบุไว้คนเดียวหรือหลายคน แต่บุคคลทั้งหมดเสียชีวิต กฎหมายกำหนดให้จ่ายเงินกองทุนให้แก่บุคคล 3 กลุ่มตามสัดส่วนดังรูปด้านล่าง หรือกรณีสมาชิกระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ไว้มากกว่าหนึ่งคนและมีผู้รับผลประโยชน์คนใดคนหนึ่งเสียชีวิต เงินในส่วนที่ผู้รับผลประโยชน์ดังกล่าวมีสิทธิที่จะได้รับ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของสมาชิกที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลผู้รับผลประโยชน์ แต่หากไม่ได้ระบุไว้ เงินในส่วนดังกล่าวจะเป็นของบุคคล 3 กลุ่มดังรูปด้านล่าง 


อย่างไรก็ดี หากบุตร หรือสามีหรือภรรยา หรือบิดาหรือมารดา กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสียชีวิตแล้ว กลุ่มที่เหลือที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิได้รับเงินตามส่วนที่กำหนดไว้เช่นเดิม แต่หากบุคคลทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว (บุตร สามีหรือภรรยา บิดาหรือมารดา) เสียชีวิตแล้ว และสมาชิกไม่มีทายาทตามกฎหมายแล้ว เงินกองทุนของสมาชิกทั้งหมดจะตกเป็นเงินของกองทุน