SHARE

ออกจากงาน

สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ต้องการลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุหรือก่อนอายุครบ 55 ปี ควรคำนึงถึงเงินกองทุนของตัวเองใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ จะได้เงินเท่าไร ต้องเสียภาษีหรือไม่ และนำเงินไปไว้ไหนได้บ้าง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินกองทุนและภาษีได้อย่างคุ้มค่า

จะได้เงินเท่าไร

ก่อนสมาชิกตัดสินใจลาออกจากงาน ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าตนเองมีสิทธิได้รับเงินกองทุนครบทั้ง 4 ส่วนหรือไม่ ได้แก่ เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ และในจำนวนเท่าไร โดยพิจารณาว่า “อายุงาน” หรือ “อายุที่เป็นสมาชิกกองทุน” เข้าเงื่อนไขการนำเงินออกจากกองทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุนอย่างไร ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่มักกำหนดเงื่อนไขการให้เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบเป็นแบบขั้นบันไดตามอายุงานหรืออายุการเป็นสมาชิกกองทุน

ตัวอย่างเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแบบขั้นบันได้ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน


ต้องเสียภาษีหรือไม่

หากสมาชิกลาออกจากงานเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้ว 5 ปีต่อเนื่อง จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินกองทุนทั้ง 4 ส่วน แต่หากลาออกจากงานตอนอายุน้อยกว่า 55 ปี จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเงินส่วนที่เป็นเงินสะสมเท่านั้น โดยสมาชิกจะต้องนำเงินกองทุน อีก 3 ส่วนไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี  

อย่างไรก็ดี หากสมาชิกลาออกจากงานโดยมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะมีสิทธิเลือกว่าจะนำเงินที่ได้รับจากกองทุน 3 ส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี หรืออาจเลือกนำเงินทั้ง 3 ส่วนนั้นแยกคำนวณภาษีต่างหากจากเงินได้อื่น โดยควรเปรียบเทียบดูว่าวิธีการใดที่ทำให้ประหยัดภาษีได้มากกว่ากัน  (คลิก เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณภาษี)


นำเงินไปไว้ไหนได้บ้าง

หากสมาชิกลาออกจากงานตอนอายุไม่ถึง 55 ปี โดยอาจไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่หรือไปประกอบอาชีพอิสระ สมาชิกมีทางเลือกหลายทางในการบริหารจัดการเงินกองทุนและภาษี ดังนี้

โอนเงินไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างรายใหม่ 
การโอนเงินไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างรายใหม่เป็นช่องทางที่ช่วยให้สมาชิกสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ โดยมีเงื่อนไขว่า สมาชิกจะต้องโอนเงินที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนไปทั้งหมด และเมื่อนำเงินออกจากกองทุนของนายจ้างรายใหม่ สมาชิกต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยสามารถนับอายุงานต่อเนื่องจากนายจ้างรายเดิมได้หากโอนเงินไปภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี และต้องไม่เคยใช้สิทธิในการแยกยื่นภาษีกรณีลาออกจากงานเมื่ออายุงานครบ 5 ปี 

โอนเงินไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (“RMF for PVD”) 
หากสมาชิกลาออกไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ที่ไม่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไปประกอบอาชีพอิสระ การโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในจำนวนที่มีสิทธิได้รับทั้งหมดไปยัง RMF for PVD ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพื่อให้สามารถรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเงื่อนไขการลงทุนใน RMF for PVD เหมือนกับการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี โดยนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โอนไป และถอนการลงทุนเมื่ออายุครบ 55 ขึ้นไป ซึ่งเมื่อโอนย้ายเงินไป RMF for PVD แล้วจะไม่สามารถย้ายเงินกลับมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อีก แต่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและกองทุน รวมถึงย้ายกองทุนไปยังบริษัทจัดการแห่งอื่นได้ด้วย  นอกจากนี้ การลงทุนใน RMF for PVD ไม่ต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มตามเงื่อนไขเช่นเดียวกับกรณี RMF ปกติ  (คลิก เพื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับ RMF for PVD)


คงเงิน
สมาชิกที่ลาออกจากงานอาจเลือกคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเช่นเดิมเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสมาชิกและนายจ้างไม่ต้องนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนแล้ว และสมาชิกสามารถนำเงินที่คงไว้ในกองทุนไปลงทุนและปรับเปลี่ยนในนโยบายได้เช่นเดิม ทั้งนี้ สมาชิกควรศึกษาเงื่อนไขการคงเงินไว้ในกองทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุนก่อนตัดสินใจ เนื่องจากนายจ้างแต่ละรายกำหนดระยะเวลาการคงเงินไว้แตกต่างกันภายใต้กรอบของกฎหมายซึ่งกำหนดว่า ต้องไม่น้อยกว่า 90 วันนับแต่วันที่ออกจากงาน นอกจากนี้ สมาชิกอาจต้องพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายในการคงเงินไว้ในกองทุนเพิ่มเติมด้วย 


ถอนเงินทั้งหมด
สมาชิกที่ลาออกจากงานและมีความจำเป็นต้องถอนเงินออกจากกองทุนไปใช้จ่าย สามารถขอรับเงินกองทุนตามสิทธิที่ควรได้รับโดยจะต้องถอนเงินออกไปทั้งหมด ไม่สามารถแบ่งเป็นงวด ๆ ได้ ทั้งนี้ สิ่งที่ควรตระหนักคือการนำเงินออกโดยที่อายุยังไม่ครบ 55 ปี และอายุการเป็นสมาชิกกองทุนยังไม่ถึง 5 ปี จะไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินทั้ง 4 ส่วน และสิ่งสำคัญคือ เงินดังกล่าวเป็นเงินออมที่เราควรเก็บไว้ใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณที่ไม่มีรายได้แล้ว ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการใช้จ่ายเงินก้อนนี้เพื่อให้มีเงินเพียงพอจนถึงสิ้นอายุขัย