SHARE

ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือการออมเพื่อการเกษียณประเภทหนึ่งที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมการออมและการลงทุนระยะยาว เช่นเดียวกับเงินออมเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น ๆ อาทิ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันแบบบำนาญ โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี 3 ต่อ ดังนี้

ต่อที่หนึ่ง - สมาชิกนำเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้

เงินสะสมที่สมาชิกนำส่งเข้ากองทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) หรือเบี้ยประกันบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยสมาชิกกองทุนยิ่งส่งเงินสะสมเข้ากองทุนมากเท่าไร ก็ยิ่งประหยัดภาษีจากเงินในส่วนนี้ได้มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากมีจำนวนเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีน้อยลง แต่ลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนจะไม่สามารถประหยัดภาษีจากเงินส่วนนี้ได้เลย


ต่อที่สอง - ผลตอบแทนจากเงินลงทุนของกองทุนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้

ผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งหมดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทใด เช่น ดอกเบี้ยพันธบัตร ส่วนต่างกำไรจากการลงทุนในหุ้น (capital gain) จะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ  ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงกว่ากองทุนรวมทั่วไปที่ลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทเดียวกันโดยเปรียบเทียบ สมาชิกกองทุนจึงได้รับประโยชน์จากการถือหน่วยลงทุนที่มีมูลค่าสูงด้วย

สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ยังครอบคลุมกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งไม่ถูกหักภาษี 15% ของดอกเบี้ยหรือส่วนลดรับที่ได้รับจากผู้รับฝากหรือผู้ออกตราสารหนี้ ขณะที่กองทุนรวมทั่วไปจะถูกหักภาษีตั้งแต่ต้นทางก่อนจะจ่ายดอกเบี้ยหรือกำไรส่วนต่างจากส่วนลดรับ 

ต่อที่สาม - สมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อนำเงินออกจากกองทุน


เมื่อสมาชิกออกจากงานและได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้ง 4 ส่วน คือ เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ เงินดังกล่าวถือเป็นเงินได้ประเภทค่าจ้างที่ผู้รับเงินต้องเสียภาษี อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ลูกจ้างออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างมีวินัย สม่ำเสมอ และเป็นระยะเวลานานพอควร จึงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สมาชิกที่ได้รับเงินคืนจากกองทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดใน 3 กรณี ดังนี้

(1) กรณีออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ

หากสมาชิกออกจากงานตอนอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน หรืออาจเรียกได้ว่า “เกษียณอายุ” ตามเงื่อนไขภาษี สมาชิกจะได้รับยกเว้นภาษีเงินกองทุนทั้ง 4 ส่วนตอนนำเงินออกจากกองทุน เนื่องจากเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาวเพื่อเกษียณอายุ

อย่างไรก็ดี หากสมาชิกลาออกจากงานตอนอายุครบ 55 ปี แต่เป็นสมาชิกกองทุนยังไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่อง จะต้องนำเงิน 3 ส่วน (ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ) ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี แต่หากไม่มีความจำเป็นต้องรีบใช้เงินก้อนนี้และต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ ก็สามารถคงเงินไว้ในกองทุนเดิม เพื่อรอโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ หรือสามารถโอนย้ายเงินกองทุนไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกว่า RMF for PVD เพื่อลงทุนจนครบ 5 ปีต่อเนื่อง (นับรวมอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF for PVD) แล้วค่อยถอนเงินออกจากกองทุน ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดเช่นกัน  

รายละเอียดเกี่ยวกับการได้รับเงินจากกองทุนกรณีเกษียณอายุ คลิก

(2) กรณีออกจากงานก่อนเกษียณอายุ

หากสมาชิกออกจากงานตอนอายุไม่ถึง 55 ปี แม้ว่าจะเป็นสมาชิกกองทุนต่อเนื่องครบ 5 ปีแล้วก็ตาม เท่ากับไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้ง 4 ส่วน หากสมาชิกอยากได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อาจพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ เช่น โอนเงินไปยัง RMF for PVD หรือคงเงินไว้ในกองทุนเดิม จนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์และเป็นสมาชิกกองทุนครบ 5 ปี จึงจะเข้าเงื่อนไขได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อนำเงินออกจากกองทุน

รายละเอียดเกี่ยวกับการได้รับเงินจากกองทุนกรณีออกจากงาน คลิก

แต่หากสมาชิกต้องการนำเงินออกจากกองทุนพร้อมกับที่ลาออกจากงานเลย โดยไม่รอให้อายุครบ 55 ปี แต่เป็นสมาชิกกองทุนครบ 5 ปีตามเงื่อนไขแล้ว เมื่อสมาชิกได้รับเงินจากกองทุน จะต้องนำเงิน 3 ส่วน (ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ) ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ทั้งนี้ สมาชิกไม่ต้องนำเงินส่วนที่เป็นเงินสะสมที่ได้รับคืนจากกองทุนไปรวมคำนวณภาษี เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เงินได้’ ที่สมาชิกได้ยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีอยู่แล้ว และได้รับการยกเว้นภาษีเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่นำส่ง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ให้สิทธิในการเสียภาษีเงินได้ดังกล่าวที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน กรณีที่สมาชิกมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป มีสองทางเลือกในการยื่นภาษี คือ 

ทางเลือกที่ 1 นำเงิน 3 ส่วนดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี หรือ

ทางเลือกที่ 2 นำเงิน 3 ส่วนดังกล่าวแยกคำนวณภาษีต่างหากจากเงินได้อื่น โดยกรมสรรพากรกำหนดให้สามารถนำเงิน 3 ส่วนดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายในจำนวน 7,000 บาทที่คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เมื่อหักแล้วเหลือเท่าไร ให้หักค่าใช้จ่ายอีก 50% ของเงินที่เหลือนั้น แล้วจึงนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ตามหลักทั่วไป ตัวอย่างเช่น หากเราทำงานมาแล้ว 10 ปี และต้องการลาออกจากงานโดยได้รับเงินกองทุน 3 ส่วน จำนวน 1,000,000 บาท เราจะต้องนำเงินจำนวน [1,000,000 - (7,000 *10)] *50% = 465,000 บาท ไปคำนวณภาษีทั้งหมดโดยไม่ได้รับการยกเว้น

จากทั้งสองทางเลือกข้างต้น สมาชิกควรเปรียบเทียบดูว่าทางเลือกใดเป็นทางเลือกที่ประหยัดภาษีได้มากกว่ากัน  สำหรับสมาชิกที่ลาออกจากงานตอนอายุยังไม่ถึง 55 ปี และมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี เมื่อได้รับเงินจากกองทุน สมาชิกต้องนำเงิน 3 ส่วนดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยไม่มีสิทธิในการแยกยื่นภาษีเหมือนสมาชิกที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป  การโอนเงินไปยัง RMF for PVD หรือคงเงินไว้ในกองทุนเดิม จะช่วยให้ท่านลงทุนได้ต่อเนื่องและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้มากกว่า

(3) กรณีออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน

หากสมาชิกลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงาน สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเฉพาะเงินสะสมเท่านั้น โดยไม่ต้องนำเงินสะสมไปรวมคำนวณภาษี เนื่องจากเป็นเงินได้ที่สมาชิกยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีอยู่แล้ว และได้รับการยกเว้นภาษีเท่ากับจำนวนเงินสะสมทั้งหมดที่นำส่งเข้ากองทุน อย่างไรก็ดี สมาชิกจะต้องนำเงินกองทุนอีก 3 ส่วนไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี

รายละเอียดเกี่ยวกับการได้รับเงินจากกองทุนกรณีออกจากกองทุน คลิก