กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกว่า “RMF for PVD” เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับเงินโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) โดยเฉพาะ เพื่อให้สมาชิกกองทุนที่ยังทำงานอยู่แต่นายจ้างยกเลิก PVD และสมาชิกกองทุนที่ออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น นายจ้างเลิกกิจการ ไปเรียนต่อต่างประเทศ ประกอบอาชีพอิสระ หรือไปทำงานกับนายจ้างใหม่ที่ไม่มี PVD สามารถออมเงินและยังคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปได้ โดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับ PVD และ RMF ปกติ คือ ต้องลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี (นับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิก PVD ที่โอนมา) และถอนการลงทุนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
ตัวอย่าง นาย A ลาออกจากงานตอนอายุ 54 ปีเพื่อไปทำสวนที่ต่างจังหวัด โดยมีอายุงาน 20 ปี และเป็นสมาชิก PVD มาแล้ว 4 ปี หากตอนลาออก นาย A โอนย้ายเงินจาก PVD ไปยัง RMF for PVD นาย A สามารถลงทุนใน RMF for PVD อีกเพียง 1 ปี ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อถอนเงินออกจากกอง เนื่องจากนาย A มีอายุครบ 55 ปี และระยะเวลาการเป็นสมาชิก PVD กับลงทุนใน RMF for PVD รวมได้ครบ 5 ปี ทั้งนี้ เงิน PVD ที่โอนย้ายไปลงทุนใน RMF for PVD จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งต่างจากการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Fund: SSF) เพราะถือว่าไม่ใช่เงินลงทุนก้อนใหม่ อย่างไรก็ดี การลงทุนใน RMF for PVD สมาชิกไม่ต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มต่อเนื่องเหมือนกอง RMF ปกติ เพราะกองทุน RMF for PVD เปิดรับเฉพาะเงินโอนย้ายจาก PVD เท่านั้น
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรรู้ก็คือ เมื่อโอนเงินไปยัง RMF for PVD แล้ว จะไม่สามารถย้ายเงินดังกล่าวกลับมา PVD ได้อีก แต่สามารถบริหารสัดส่วนการลงทุน (asset allocation) ของเงินดังกล่าวเพื่อให้ตอบโจทย์การลงทุนได้มากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายและกองทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุและความสามารถในการรับความเสี่ยง รวมถึงย้ายไปยังกอง RMF for PVD ของบริษัทจัดการแห่งอื่นได้อีกด้วย
ตัวอย่าง กรณีนายจ้างยกเลิก PVD ในขณะที่มีอายุ 35 ปี ซึ่งยังสามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูง จึงโอนย้ายเงิน PVD ทั้งก้อนไปยัง RMF for PVD ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน แต่ต่อมามีความกังวลต่อทิศทางตลาดหุ้นในอนาคตจึงแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในตราสารหนี้ด้วย โดยขอสับเปลี่ยนไปยังกองทุน RMF for PVD ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ได้ และต่อมาหากเห็นว่าบริษัทจัดการอื่นบริหารจัดการกอง RMF for PVD ที่สนใจได้ดีกว่า ก็สามารถโอนเงินลงทุนทั้งหมดไปยังบริษัทจัดการแห่งนั้นได้ด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า กองทุน RMF for PVD เป็นตัวช่วยสำคัญในการรองรับเงิน PVD ของสมาชิกที่ต้องนำเงินออกจากกองทุนก่อนเกษียณ เพื่อช่วยให้สมาชิกไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากนำเงินออกจาก PVD ก่อนกำหนด สามารถออมและลงทุนให้เกิดผลตอบแทนได้ต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี ที่สำคัญคือทำให้แผนการลงทุนเพื่อการเกษียณไม่ขาดตอนและเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
บริษัทจัดการที่ให้บริการ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ “RMF for PVD” มีอยู่ 10 แห่ง โดยมีกองทุนที่ให้บริการมากกว่า 150 กองทุน ซึ่งมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ แบบผสม ทรัพย์สินทางเลือก เช่น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ และนโยบายอื่น ๆ
ทั้งนี้ สามารถเข้าไปดูรายชื่อบริษัทจัดการที่ให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนของ RMF for PVD ได้ที่ คลิก
เปรียบเทียบและเลือกกองทุน
การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ “RMF for PVD” ก็เหมือนกับการลงทุนในกองทุนประเภทอื่น กล่าวคือ ก่อนโอนย้ายเงิน PVD สมาชิกกองทุนควรเลือกนโยบายการลงทุนและกองทุนที่เหมาะสมกับลักษณะและความต้องการของตนเอง เช่น อายุ การยอมรับความเสี่ยงในการลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง
เมื่อเลือกประเภทกองทุนที่ต้องการได้แล้ว ขั้นต่อไปคือการเลือกกองทุน RMF for PVD ที่จะลงทุน โดยตัวช่วยตัดสินใจคัดเลือกกองทุนทางหนึ่งคือ การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนกับดัชนีชี้วัด (benchmark) ของกองทุนประเภทนั้น ๆ เพื่อดูว่ากองทุนนั้นมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า benchmark หรือไม่ โดยหาข้อมูลเหล่านี้ได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (fund fact sheet) เช่น กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่สนใจมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ที่ -15% แต่เมื่อเทียบกับ SET TRI* ซึ่งเป็น benchmark ที่กำหนดไว้ใน fund fact sheet มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ที่ -19% แสดงว่ากองทุนนั้นมีผลการดำเนินงานดีกว่าดัชนีชี้วัด เพราะมีผลขาดทุนน้อยกว่า
ช่วงเวลาที่ใช้คัดเลือกกองทุน ควรพิจารณาจากผลตอบแทนย้อนหลังในระยะยาว เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ที่เติบโตสูงและผลตอบแทนสูงย่อมมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสูงเช่นกัน นอกจากนี้ กองทุนที่มีค่าธรรมเนียมสูงอาจส่งผลกระทบต่อเงินออมระยะยาวเมื่อเทียบกับกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า ดังนั้น จึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนที่เก็บค่าธรรมเนียมสูง
ทั้งนี้ สามารถดูการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานและค่าธรรมเนียมของ RMF for PVD และศึกษาข้อมูลกองทุนได้จาก fund fact sheet ของกองทุนนั้น ๆ ได้ที่ คลิก
*หมายเหตุ : SET TRI (Total Return Index) หรือดัชนีผลตอบแทนรวม คือ ดัชนีที่คำนวณผลตอบแทนทุกประเภทของการลงทุนในหุ้นให้สะท้อนออกมาในรูปของค่าดัชนี ซึ่งมีทั้งผลตอบแทนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น (capital gain/loss) สิทธิในการจองซื้อหุ้น (rights) และเงินปันผล (dividends)