SHARE

การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นขุมทรัพย์เงินเกษียณของมนุษย์เงินเดือน เป็นการออมภาคสมัครใจที่จะทำให้มนุษย์เงินเดือนมีหลักประกันที่มั่นคงในยามเกษียณ ซึ่งไม่ใช่แค่ลูกจ้างที่ได้ประโยชน์เท่านั้น แต่นายจ้างก็ได้ประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเช่นกัน คลิก

การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี 7 ขั้นตอน ดังนี้ 


1. นายจ้างและลูกจ้างตกลงจัดตั้งกองทุน

ถึงแม้ว่าทางทฤษฎีตามกฎหมาย การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้ว นายจ้างต้องเป็นผู้ริเริ่มและเต็มใจที่จะให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันรองรับการเกษียณ ถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นดำเนินการในด้านต่าง ๆ ต่อไป 

    1.1 ความพร้อมทางการเงินของนายจ้างเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเป็นประจำทุกเดือนเข้ากองทุน ซึ่งเลือกจ่ายเงินสมทบได้ตั้งแต่ 2%-15% ของเงินเดือนของลูกจ้างรายนั้น ๆ โดยอาจจ่ายมากกว่าหรือน้อยกว่าหรือเท่ากับเงินสะสมที่ลูกจ้างสะสมของตนเอง
   1.2 ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องการนำส่งเงินเข้ากองทุน การจัดทำรายชื่อสมาชิกกองทุน งานธุรการ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุน ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่แผนกทรัพยากรบุคคลหรือแผนกการเงินก็ได้
   1.3 ความพร้อมของลูกจ้างส่วนใหญ่ โดยพิจารณาจากคุณลักษณะต่าง ๆ อาทิ ประเภทลูกจ้าง (ประจำ-ชั่วคราว) จำนวนลูกจ้าง อัตราการเข้าและลาออกของลูกจ้าง อายุลูกจ้าง ความสามารถในการออมและความรู้ทางการเงินของลูกจ้าง เนื่องจากมีผลต่อรายละเอียดของข้อบังคับกองทุน
   1.4 การประมาณการขนาดของเงินในกองทุนมีความจำเป็นที่จะต้องรู้ล่วงหน้า โดยสามารถประมาณการจากจำนวนเงินสะสม จำนวนเงินสมทบ การเติบโตของเงินสะสมและเงินสมทบที่มาจากการขึ้นเงินเดือนและการเพิ่มจำนวนลูกจ้างใหม่ รวมถึงผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน ซึ่งการประมาณการขนาดของเงินจะมีผลต่อการพิจารณารูปแบบของกองทุนว่าควรเป็นกองประเภทใด ได้แก่
        (1) กองทุนเดี่ยว (single fund) เหมาะกับนายจ้างขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างจำนวนมาก ส่งผลให้มีเงินในกองทุนจำนวนมาก ทำให้มีอำนาจต่อรองและตัดสินใจการกำหนดนโยบายการลงุทนได้

        (2) กองทุนหลายนายจ้าง-บริษัทในเครือ (group fund) เหมาะกับนายจ้างหลายรายที่อยู่บริษัทในเครือเดียวกัน ร่วมกันจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองเดียวกันขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกองทุนเดี่ยวตามข้อ (1)


        (3) กองทุนหลายนายจ้าง (pooled fund) เหมาะกับนายจ้างขนาดเล็กที่มีจำนวนเงินในกองทุนไม่มาก มีลักษณะเป็นกองทุนที่ร่วมลงทุนจากนายจ้างขนาดเล็กหลายราย จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานบางส่วนลงได้ตามสัดส่วนเงินร่วม


2. จัดตั้งคณะกรรมการกองทุน

คณะกรรมการกองทุนประกอบด้วยกลุ่มบุคคล 2 ฝ่าย ได้แก่ กรรมการกองทุนฝ่ายนายจ้าง (นายจ้างแต่งตั้ง) และกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้าง (ลูกจ้างเลือกตั้ง) โดยมีอย่างน้อยฝ่ายละ 1 คน

หากเป็นคณะกรรมการกองทุนของกองทุนประเภท single fund และ group fund จะมีหน้าที่คัดเลือกและทำสัญญากับบริษัทจัดการ ผู้รับฝากทรัพย์สิน และผู้สอบบัญชี รวมทั้งเสนอแก้ไขข้อบังคับกองทุนและประสานงานกับบุคคลอื่น แต่หากเป็นคณะกรรมการกองทุนของกองทุนประเภท pooled fund คณะกรรมการกองทุนของแต่ละบริษัทจะกำหนดหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเฉพาะส่วนของบริษัทตน เช่น อัตราเงินสะสมและเงินสมทบ การจ่ายเงินสมทบ และผลประโยชน์เมื่อสิ้นสมาชิกภาพ ในขณะที่งานหลักในด้านการบริหารกองทุนโดยทั่วไปจะตกอยู่ที่คณะกรรมการกองทุนหลัก ซึ่งมักเป็นบริษัทจัดการที่ทำหน้าที่ดังกล่าวแทน

อนึ่ง คณะกรรมการกองทุนสามารถมอบหมายให้บริษัทจัดการทำหน้าที่คัดเลือกผู้รับฝากทรัพย์สินและผู้สอบบัญชีแทนได้ รวมทั้งมอบหมายให้บริษัทจัดการเป็นตัวแทนในการยื่นขอจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือขอแก้ไขข้อบังคับกองทุนกับสำนักงาน ก.ล.ต. ได้

3. ติดต่อบริษัทจัดการให้เข้ามานำเสนอแผนการลงทุนและคัดเลือกบริษัทจัดการมาบริหารกองทุน 

เงินสะสมและเงินสมทบที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำเป็นต้องมีผู้ที่มีความเป็นมืออาชีพที่ได้รับใบอนุญาตให้สามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนมาบริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เติบโตขึ้น โดยคณะกรรมการกองทุนจะมีหน้าที่คัดเลือกบริษัทจัดการอย่างรอบคอบและมีการกำหนดหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในการคัดเลือก เพื่อให้ได้บริษัทจัดการที่สามารถบริหารจัดการเงินกองทุนได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก 

รายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกบริษัทจัดการ คลิก

4. กำหนดแผนการลงทุนที่เหมาะกับสมาชิกส่วนใหญ่

คณะกรรมการกองทุนควรพิจารณาลักษณะส่วนใหญ่ของลูกจ้างว่าลักษณะแบบใด เช่น ช่วงอายุ ลักษณะความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เป็นต้น เนื่องจากมีผลต่อการคัดเลือกจำนวนและประเภทแผนการลงทุนมาให้สมาชิกเลือกลงทุน (employee’s choice) ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-35 ปี สามารถรับความผันผวนของตลาดได้ เล็งเห็นถึงผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาว จึงควรมีแผนการลงทุนที่เสี่ยงสูงเป็นตัวเลือกในการลงทุน แต่ถ้าคณะกรรมการกองทุนคัดเลือกแผนการลงทุนมา 5 แผน ซึ่งทั้งหมดเป็นแผนการลงทุนความเสี่ยงระดับต่ำและกลาง สมาชิกก็จะเลือกลงทุนไม่ตรงตามความเสี่ยงของตนเอง รวมถึงคณะกรรมการกองทุนก็จะไม่สามารถดึงดูดให้ลูกจ้างสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้มากเท่าที่คาดการณ์

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกองทุนควรมีแผนการลงทุนสมดุลตามอายุ (target date หรือ life path) เป็นตัวเลือกให้สมาชิกด้วย เนื่องจากเหมาะสมกับสมาชิกที่ไม่แน่ใจว่าจะเลือกลงทุนอย่างไร การเลือกแผนการลงทุนสมดุลตามอายุจะมาช่วยแก้ปัญหานี้ 

รายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกนโยบายการลงทุนและกองทุน คลิก

5. จัดทำข้อบังคับกองทุน

ข้อบังคับกองทุนเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่กำหนดขอบเขตและแนวทางการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยข้อบังคับกองทุนจะมีผลบังคับใช้เมื่อจดทะเบียนกับนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และหากต้องการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง จำเป็นต้องแก้ไขกับนายทะเบียนเช่นกัน

รายละเอียดเกี่ยวกับข้อบังคับกองทุน คลิก

6. ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน

บริษัทจัดการจะเป็นผู้ยื่นเอกสารขอจัดตั้งกองทุน (กรณีตั้งกองทุนใหม่) หรือเพิ่มนายจ้าง (กรณีมีกองทุนแล้ว และต้องการเพิ่มนายจ้างในกองนั้น) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาอนุมัติ

7. การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ลูกจ้าง 

   7.1 การสมัครเป็นสมาชิก : ส่งเสริมให้ลูกจ้างสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่วันแรกที่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างใหม่หรือลูกจ้างปัจจุบันที่ยังไม่ได้สมัคร 
   7.2 การจ่ายเงินสะสม : สนับสนุนให้สมาชิกเลือกสะสมเงินในอัตราสูงสุดเท่าที่ทำได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อจำนวนเงินหลังเกษียณและสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมทั้งสื่อสารให้สมาชิกทราบถึงสิทธิการลดหรือเพิ่มจำนวนเงินสะสม จำนวนครั้ง วิธีการ และความถี่ในการเปลี่ยนแปลง
   7.3 การเลือกแผนการลงทุน : กำหนดให้สมาชิกทำแบบประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยง (suitability test) เพื่อทราบผลว่าสามารถรับความเสี่ยงในระดับใด และแผนการลงทุนใดเหมาะสมกับตนเอง  อย่างไรก็ดี สมาชิกอาจเลือกแผนสมดุลตามอายุของตนเองได้โดยไม่ต้องทำแบบประเมินความเสี่ยง  ทั้งนี้ สามารถขอแบบประเมินความเสี่ยงได้ที่คณะกรรมการกองทุน
   7.4 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกกองทุน : ส่งเสริมให้สมาชิกรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองในฐานะสมาชิก เพื่อการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เช่น การติดตามการทำงานของบริษัทจัดการ การเปลี่ยนแผนการลงทุน เป็นต้น (คลิก เพื่อดูสิทธิที่ควรรู้ของสมาชิก)

รายละเอียดเกี่ยวกับการให้ความรู้แก่สมาชิก คลิก